คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1512/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามในมูลละเมิด เป็นการกระทำเดียวกันกับคดีอาญาที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในข้อหาความผิดต่อชีวิต ประมาท และก่อให้เกิดเพลิงไหม้ การที่จำเลยที่ 1ที่ 2 ในคดีแพ่ง ยื่นคำร้องขออ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 4531/2532 ของคดีอาญาดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในชั้นฎีกา เมื่อข้อเท็จจริง ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาคดีแพ่งเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2528 ส่วนคำพิพากษาฎีกาที่ 4531/2532 ได้อ่านให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2533 จำเลยที่ 1ที่ 2 ในคดีแพ่ง จึงไม่อาจอ้าง คำพิพากษาฎีกาดังกล่าวได้ก่อนนั้น และปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้เคยยื่นคำร้องขออ้างคำพิพากษาฎีกาที่4531/2532 ต่อศาลอุทธรณ์ มาแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์มิได้มีคำสั่งอย่างใดดังนี้เห็นว่า คำพิพากษาฎีกาที่ 4531/2532 เป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็น ในคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกามีอำนาจรับ พยานหลักฐานดังกล่าวเข้าสู่สำนวนความในชั้นฎีกาได้ พนักงานอัยการเคยเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญากล่าวหาจำเลยที่ 2 เป็นจำเลย ว่ากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ ซึ่งมี มูลคดีเป็นการกระทำเดียวกันกับคดีแพ่งมาก่อน คดีของโจทก์ใน คดีแพ่งจึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อผลของคำพิพากษา คดีส่วนอาญา มีคำวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 มิได้กระทำประมาท เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้และคดีถึงที่สุดไปแล้ว ข้อเท็จจริง ดังกล่าวศาลในคดีส่วนแพ่งจึงต้องถือตามที่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติไว้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ภายในอาคาร โจทก์ได้ติดต่อสั่งซื้อพร้อมทั้งว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ปูพรมห้องอาคารที่โจทก์เช่า ต่อมาขณะที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 กำลังปูพรมอยู่ จำเลยที่ 2 ที่ 3 กระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้เผานายเฟื่องและนายพิมถึงแก่ความตาย กับทำให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย จำเลยที่ 2 ที่ 3 ผู้กระทำละเมิดจำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ที่ 3ซึ่งเป็นลูกจ้างในผลแห่งการละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 3,036,600 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และมิได้กระทำในทางการที่จ้าง เหตุเพลิงไหม้มิได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 2 ที่ 3 แต่เกิดเพราะความประมาทของลูกจ้างของโจทก์ โจทก์เรียกค่าเสียหายสูงเกินความจริงขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าเสียหาย 600,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2526จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับคำร้องของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฉบับลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2533 ขออ้างคำพิพากษาที่ 4531/2532ซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในคดีนี้เป็นจำเลยคดีอาญาในข้อหาความผิดต่อชีวิต ประมาท และก่อให้เกิดเพลิงไหม้เป็นพยานหลักฐานในชั้นฎีกา ตามบัญชีพยานฉบับลงวันที่เดียวกันกับคำร้องนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2528 ส่วนคำพิพากษาฎีกาที่ 4531/2532ได้อ่านให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2533 จำเลยที่ 1 ที่ 2จึงไม่อาจอ้างพยานหลักฐานที่เป็นคำพิพากษาฎีกาได้ก่อนนั้นและปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขออ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 4531/2532 ต่อศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2533 เป็นครั้งแรก แต่ศาลอุทธรณ์มิได้มีคำสั่งอย่างใด ดังนี้เห็นว่าคำพิพากษาฎีกาที่ 4531/2532 เป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นในคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงให้รับพยานหลักฐานดังกล่าว
การที่พนักงานอัยการเคยเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญากล่าวหาจำเลยที่ 2เป็นจำเลยว่ากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ ซึ่งเป็นมูลคดีอันเป็นการกระทำเดียวกันกับคดีนี้มาก่อนนั้น คดีของโจทก์จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ที่ประเด็นในคดีส่วนอาญา มีประเด็นเดียวกันกับคดีส่วนแพ่ง กล่าวคือ จำเลยที่ 2 กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้หรือไม่เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญา และพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญากล่าวว่าจำเลยที่ 2 กระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์สินของโจทก์ในคดีนี้ได้รับความเสียหาย ถือได้ว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายในคดีอาญาด้วย ดังนั้น ข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาฎีกาที่ 4531/2532 จึงต้องผูกพันโจทก์ในคดีนี้ เมื่อผลของคำพิพากษาคดีส่วนอาญามีคำวินิจฉัยว่า คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยถอยหลังมาเตะหลอดไฟนีออนล้มลงแตก จนเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ จึงมีความหมายว่าจำเลยมิได้กระทำประมาทเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้นั่นเอง และคดีถึงที่สุดไปแล้ว ข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลในคดีส่วนแพ่งจึงต้องถือตามดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติไว้ คดีต้องฟังว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้และเมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ข้อฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ว่าจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 กระทำในทางการที่จ้างหรือไม่ก็ดีโจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใดหรือไม่ก็ดี ก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อคดีเพราะไม่ทำให้โจทก์ชนะคดีได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share