คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1509/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มีดที่พวกของจำเลยใช้ทำร้าย ยาวประมาณ 1 ฟุตรวมทั้งด้าม แทงผู้ตายมีบาดแผลภายนอกผิวหนังฉีกขาดขนาดประมาณ2X0.5 เซนติเมตร ทะลุผ่านเนื้อกล้ามเข้าช่องซี่โครงที่ 11 ข้างซ้ายด้านหลัง เข้าช่องอกเฉี่ยวกระบังลมข้างซ้ายฉีกขาดทะลุเข้าหลอดเลือดแดงใหญ่ แม้ผู้แทงจะแทงผู้ตายเพียงทีเดียว เมื่อปรากฏว่าสถานที่เกิดเหตุมีแสงไฟสว่างเห็นได้ชัด ผู้แทงมีโอกาสเลือกแทงได้ทั้งบาดแผลก็แสดงว่าแทงโดยแรงถูกอวัยวะสำคัญมากจนผู้ตายล้มลงขาดใจตายอยู่ตรงนั้น ดังนี้. ฟังได้ว่าผู้แทงมีเจตนาฆ่าผู้ตาย
ถึงแม้ในชั้นสอบสวน จำเลยจะรับว่าได้เตะทำร้ายตามข้อกล่าวหา แต่ในชั้นศาลกลับให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งสิ้นและยังอ้างตนเองนำสืบปฏิเสธว่าไม่ได้เตะใครในคืนเกิดเหตุไม่เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็มิได้นำเอาคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนขึ้นวินิจฉัยฟังประกอบคำพยานโจทก์ลงโทษจำเลย คำให้การของจำเลยจึงไม่เป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีก 4 คนที่เป็นเยาวชน ได้บังอาจร่วมกันใช้เท้าเตะนายสันต์ บุญส่ง แต่ไม่ถึงกับเกิดอันตรายแก่กายและเตะกับใช้ปืนยิงนายไพศาล นาคสุวรรณ 2 นัด กระสุนปืนไม่ถูกและได้ใช้มีดปลายแหลมแทงนายไพศาล นาคสุวรรณ ถึงแก่ความตายเพราะพิษบาดแผลที่ถูกแทง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 391, 92, 83 กับสั่งริบปืนกับกระสุนปืนลูกกรด 11 นัดของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ รับในข้อเคยต้องโทษ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 391, 83 ให้ลงโทษตามมาตรา 288ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 15 ปี เพิ่มโทษตามมาตรา 92 หนึ่งในสาม เป็นจำคุก 20 ปี ของกลางริบ

จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยเพียงแต่เตะนายสันต์ มิได้ร่วมกับนายพีระพงษ์แทงผู้ตายและนายพีระพงษ์มีเจตนาเพียงทำร้ายร่างกายผู้ตาย ไม่มีเจตนาฆ่า

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาต่อมา

ศาลฎีกาวินิจฉัยฟ้งข้อเท็จจริงว่า สาเหตุที่คิดทำร้ายกันในคดีนี้มีมูลมาจากกลุ่มนักเรียนโรงเรียนไพศาลศิลป์กับโรงเรียนช่างกลไทยสุริยะซึ่งเข้าไปฟังดนตรีที่แสดงบนสถานลีลาศลุมพินีในงานเคหศิลป์ ทั้งสองโรงเรียนต่างแย่งกันขอเพลงและพูดยั่วเย้ากันอยู่ตลอดเวลา เมื่อจำเลยกับนายพีระพงษ์กับพวกซึ่งเป็นนักเรียนโรงเรียนไพศาลศิลป์เดินกลับมาถึงหน้าสมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่นได้เห็นนักเรียนโรงเรียนช่างกลไทยสุริยะ 4 คนเดินมา ก็พากันวิ่งเข้าไปจะทำร้าย จนนักเรียนช่างกลไทยสุริยะพวกนั้นต้องหนีหลบเข้าไปในสมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่นตอนหนึ่งแล้ว และเมื่อจำเลยกับพวกเดินเลยต่อมาถึงหน้าโรงแรมเอราวัณ ได้เห็นผู้ตายกับนายสันต์ซึ่งเป็นนักเรียนช่างกลไทยสุริยะกำลังเดินจะไปเรียนภาษาญี่ปุ่นที่สมาคมและไม่รู้เรื่องอะไรมาก่อน จำเลย นายพีระพงษ์ นายธำรงค์กับพวกก็พากันตรงเข้าไปทำร้ายพร้อม ๆ กันทันที โดยนายธำรงค์เข้าเตะผู้ตาย 1 ทีเซไป ทันใดนายพีระพงษ์ก็ใช้มีดแทงผู้ตายล้มลง ส่วนจำเลยเข้าไล่เตะนายสันต์ 1 ที พฤติการณ์ของจำเลยกับพวกดังนี้ เป็นการส่อแสดงว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกับนายพีระพงษ์กับพวกทำร้ายนักเรียนช่างกลไทยสุริยะทุกคนที่พบเห็น ถือได้ว่าเป็นการร่วมกันกระทำความผิดแล้ว

ปัญหาต่อไปว่า การกระทำของนายพีระพงษ์มีเจตนาฆ่าหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่าสถานที่เกิดเหตุมีแสดงไฟฟ้าจากโรงแรมเอราวัณและไฟฟ้าที่ถนนส่องแสงสว่างเห็นได้ชัด นายพีระพงษ์มีโอกาสที่จะเลือกแทงได้เป็นอย่างดีในเมื่อผู้ตายผู้ไม่รู้ตัวและถูกเตะเซมาหานายพีระพงษ์มีดที่ใช้แทงยาวประมาณ 1 ฟุตรวมทั้งด้าม และแทงผู้ตายมีบาดแผลภายนอกผิวหนังฉีกขาดขนาดประมาณ 2 คูณ 0.5 เซนติเมตร แทงทะลุผ่านเนื้อกล้ามเข้าช่องซี่โครงที่ 11 ข้างซ้ายด้านหลัง เข้าช่องอกเฉี่ยวกระบังลมข้างซ้ายฉีกขาดทะลุเข้าหลอดเลือดแดงใหญ่ เลือดตกในมากแม้จะแทงผู้ตายไปเพียงทีเดียว แต่ก็แทงถูกอวัยวะที่สำคัญมากและแทงโดยแรงจนผู้ตายล้มลงขาดใจตายอยู่ตรงนั้น ดังนี้ ฟังว่ามีเจตนาฆ่าผู้ตาย หาใช่เป็นการกระทำโดยไม่เจตนาหรือมีเจตนาเพียงทำร้ายร่างกายผู้ตายเท่านั้นไม่

ส่วนปัญหาที่ว่า ควรลดโทษให้แก่จำเลยหรือไม่นั้น ตามฎีกาของจำเลยว่า คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนและชั้นศาล จำเลยได้ให้การด้วยความสัตย์ความจริงว่าได้เตะนายสันต์ และอยู่ในที่เกิดเหตุเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาของศาลมาก ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ในชั้นสอบสวนจำเลยจะรับว่าได้เตะนักเรียนช่างกลไทยสุริยะคนหนึ่งในจำนวนสองคนที่เดินมา แต่ในชั้นศาลจำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น และเมื่ออ้างตนเองเข้าเบิกความก็นำสืบปฏิเสธอีกว่าในคืนเกิดเหตุจำเลยไม่ได้เตะผู้ใด และไม่เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่หน้าโรงแรมเอราวัณ ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่าในชั้นศาลจำเลยไม่ได้รับดังที่จำเลยฎีกาขึ้นมา ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้หยิบยกเอาคำพยานโจทก์ขึ้นมาวินิจฉัยลงโทษจำเลย โดยมิได้นำเอาคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยขึ้นมาฟังประกอบในการวินิจฉัยคดีนี้จึงไม่เป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 เพราะมิได้ให้ความรู้แก่ศาลที่จะช่วยให้การพิจารณาชี้ขาดคดีได้เป็นไปโดยถูกต้องตามความผิดหรือการกระทำของจำเลยดังนั้น จึงไม่มีเหตุบรรเทาโทษที่ควรจะลดโทษให้จำเลย เหตุผลต่าง ๆที่จำเลยยกขึ้นฎีกาทุกข้อ ไม่อาจจะฟังเป็นอย่างอื่น ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share