แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สำเนาใบตราส่งระบุข้อความตอนบนว่า ใบตราส่งสำหรับการขนส่งในมหาสมุทรหรือขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (BILL OF LADING FOR OCEAN TRANSPORT OR MULTIMODAL TRANSPORT) จำเลยที่ 4 และที่ 5 ขนส่งสินค้าจากสถานีตรวจปล่อยสินค้าลาดกระบังทางรถยนต์ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง และขนส่งสินค้าจากท่าเรือดังกล่าวไปยังท่าเรืออะปาปา ประเทศไนจีเรีย ซึ่งตามใบจองระวางเรือระบุให้ขนส่งสินค้าจากลาดกระบังไปท่าเรือแหลมฉบัง และจากท่าเรือดังกล่าวไปจนถึงท่าเรือปลายทาง การขนส่งในคดีนี้เป็นการรับขนของโดยมีรูปแบบการขนส่งทางบกกับการขนส่งทางทะเล โดยในส่วนของการขนส่งทางบกนั้นเป็นการขนส่งข้ามจังหวัด มิใช่เพียงการขนส่งกันภายในท่าเรือซึ่งมีระยะทางไม่มาก อันเป็นรูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกันสองรูปแบบในสัญญาขนส่งเดียวกันจากสถานที่รับของในประเทศไทยไปยังสถานที่ส่งมอบของในประเทศไนจีเรียเป็นการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ การใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบของผู้เอาประกันภัยต่อจำเลยจึงมีอายุความ 9 เดือน นับแต่วันที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ส่งมอบของหรือควรจะส่งมอบของตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงปรากฏจากรายงานสำรวจความเสียหายว่า สินค้าถูกขนส่งถึงปลายทางที่ท่าเรืออะปาปาเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2551 และมีการเรียกร้องความเสียหายแก่ผู้ขนส่งเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 จึงฟังได้ว่า ผู้ประกอบการขนส่งน่าจะส่งมอบของในช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว และเมื่อนับถึงวันฟ้องคดีนี้ในวันที่ 12 มกราคม 2552 ย่อมเกินกว่า 9 เดือน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ย่อมยกเอาเหตุสิทธิเรียกร้องขาดอายุความขึ้นปฏิเสธการชำระหนี้แก่โจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/10
ที่โจทก์แก้อุทธรณ์ว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนประกอบกิจการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในประเทศไทยจึงไม่สามารถอ้าง พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองได้นั้น เห็นว่า การจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบเป็นเพียงวิธีการควบคุมการประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพเท่านั้น หาได้มีผลเปลี่ยนแปลงการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบตามความหมายในบทนิยาม พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 4 ให้เป็นอย่างอื่นแต่อย่างใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 2,674,841.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,651,954.36 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 2,674,841.09 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,651,954.36 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อประมาณวันที่ 10 ธันวาคม 2550 บริษัทเอซ อินชัวรันส์ จำกัด ได้รับประกันภัยสินค้าประเภทยารักษาโรคไว้จากบริษัทเมก้า ไลฟไซแอ็นซ์ พีทีวาย จำกัด ผู้เอาประกันภัย วงเงินประกันภัย 78,365.13 ดอลลาร์สหรัฐ ผู้เอาประกันภัยได้ขายสินค้าแก่บริษัทเมก้า ไลฟไซแอ็นซ์ ไนจีเรีย จำกัด และผู้เอาประกันภัยได้ว่าจ้างจำเลยทั้งห้าขนส่งสินค้าโดยเรือเดินทะเล เมอส์ก เกาลูน เที่ยวที่ 0802 จากประเทศไทยไปยังเมืองอะปาปา ประเทศไนจีเรีย สัญญาประกันภัยคุ้มครองความเสียหายหรือสูญหายการขนไม่ว่าช่วงใดของการขนส่งสินค้า ต่อมาวันที่ 10 มกราคม 2551 เมื่อสินค้าได้ถูกขนส่งไปถึงปลายทางปรากฏว่า สินค้าซึ่งเป็นยารักษาโรคได้รับความเสียหายตามรายงานการสำรวจ ผู้เอาประกันภัยได้เรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งห้าแล้วแต่จำเลยทั้งห้าเพิกเฉย จึงได้เรียกร้องมายังโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยซึ่งรับโอนกิจการจากบริษัทเอซ อินชัวรันส์ จำกัด โจทก์ได้ชำระค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยจึงรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องค่าเสียหายกับจำเลยทั้งห้า
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า สิทธิเรียกร้องตามฟ้องขาดอายุความตามพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า ตามสำเนาใบตราส่งระบุข้อความตอนบนว่า ใบตราส่งสำหรับการขนส่งในมหาสมุทรหรือขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (BILL OF LADING FOR OCEAN TRANSPORT OR MULTIMODAL TRANSPORT) นายฐิระพล และนายประมวล พยานจำเลยที่ 1 ทั้งสองปาก ต่างให้การสอดคล้องต้องกันว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 ขนส่งสินค้าจากสถานีตรวจปล่อยสินค้าลาดกระบังทางรถยนต์ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง และขนส่งสินค้าจากท่าเรือดังกล่าวไปยังท่าเรืออะปาปา ประเทศไนจีเรีย โดยเรือเมอส์ก เกาลูน ซึ่งตามใบจองระวางเรือ ระบุให้ขนส่งสินค้าจากลาดกระบังไปท่าเรือแหลมฉบัง และจากท่าเรือดังกล่าวไปจนถึงท่าเรือปลายทาง และโจทก์ไม่ถามค้านหรือนำสืบโต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงฟังได้ว่า การขนส่งในคดีนี้เป็นการรับขนของโดยมีรูปแบบการขนส่งทางรถยนต์หรือทางบกกับการขนส่งทางเรือหรือทางทะเล โดยในส่วนของการขนส่งทางบกนั้น เป็นการขนส่งข้ามจังหวัด มิใช่เพียงการขนส่งกันภายในท่าเรือ ซึ่งมีระยะทางไม่มากอันเป็นรูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกันสองรูปแบบในสัญญาขนส่งเดียวกัน จากสถานที่รับของในประเทศไทยไปยังสถานที่ส่งมอบของในประเทศไนจีเรีย จึงเป็นการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ตามความหมายในบทนิยาม มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 เมื่อปรากฏหลักฐานตามใบจองระวางเรือว่า มีการจองระวางเรือเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2550 อันเป็นวันหลังจากพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้ใช้บังคับแล้ว ดังนี้ การใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบของผู้เอาประกันภัยต่อฝ่ายจำเลยจึงมีอายุความ 9 เดือน นับแต่วันที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ส่งมอบของหรือควรจะส่งมอบของตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏจากรายงานสำรวจความเสียหายว่า สินค้าได้ถูกขนส่งถึงปลายทางที่ท่าเรืออะปาปาเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2551 และมีการเรียกร้องความเสียหายแก่ผู้ขนส่งเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 จึงฟังได้ว่า ผู้ประกอบการขนส่งน่าจะส่งมอบของในช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว และเมื่อนับถึงวันฟ้องคดีนี้ในวันที่ 12 มกราคม 2552 ย่อมเกินกว่า 9 เดือน คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามกฎหมายดังกล่าว จำเลยที่ 1 ย่อมยกเอาเหตุสิทธิเรียกร้องขาดอายุความขึ้นปฏิเสธการชำระหนี้แก่โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/10 สำหรับข้อที่โจทก์แก้อุทธรณ์ว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนประกอบกิจการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในประเทศไทย จึงไม่สามารถอ้างพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองได้ เห็นว่า การจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบเป็นเพียงวิธีการควบคุมการประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพเท่านั้น หาได้มีผลเปลี่ยนแปลงการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบตามความหมายในบทนิยาม มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้เป็นอย่างอื่นแต่อย่างใด ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง