แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่พิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.)ซึ่งทางราชการห้ามโอนภายในสิบปีตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58ทวิ โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่พิพาทจาก ส. ซึ่งเป็นบิดาจำเลยโดยระบุว่า ส. ได้รับเงินค่าซื้อขายที่พิพาทจากโจทก์ครบถ้วนแล้วและยินยอมมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่พิพาทให้โจทก์ยึดถือไว้ ทั้งให้สิทธิโจทก์ทุกอย่างในการเข้าครอบครองปลูกสร้างอาคารในที่พิพาทนับแต่วันทำสัญญาซึ่งยังอยู่ในระยะเวลาห้ามโอนที่พิพาทตามกฎหมายดังกล่าว สัญญาซื้อขายที่พิพาทระหว่างโจทก์และ ส.มุ่งประสงค์โอนสิทธิครอบครองทันที การทำสัญญาซื้อขายลักษณะดังกล่าวก็เพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามโอนตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 58 ทวิ ดังกล่าว ย่อมเป็นการอันมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2529นายส๊ะ วะเจดีย์ ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินบางส่วนของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) เลขที่ 872 และ 873 ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ รวมเนื้อที่3 ไร่ แก่โจทก์ในราคา 15,000 บาท นายส๊ะได้รับเงินค่าที่ดินทั้งหมดไว้แล้วกำหนดไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้โจทก์ในวันที่ 19ตุลาคม 2531 แต่นายส๊ะถึงแก่กรรมเสียก่อน จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกนายส๊ะตามคำสั่งศาล โจทก์ติดต่อให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญา จำเลยปฏิเสธ เป็นการผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินบางส่วนตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 150,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปหากโอนที่ดินไม่ได้ให้จำเลยชดใช้ค่าที่ดิน 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม สัญญาซื้อขายที่โจทก์นำมาฟ้องต้องห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ ตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดสืบพยาน ศาลชั้นต้นเรียกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 872 และ 873 ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ มาตรวจดูแล้วปรากฏว่ามีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปีจึงงดสืบพยานโจทก์จำเลย พิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความให้ 8,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงิน 15,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อปรากฏว่าที่พิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) ซึ่งทางราชการห้ามโอนภายในสิบปีตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ ซึ่งประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 58 ทวิ วรรคห้า บัญญัติว่า “ภายในสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้บุคคลตามวรรคสอง (3) ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่น เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก…”บทบัญญัติดังกล่าวห้ามมิให้ผู้ได้สิทธิในที่ดินตามมาตรานี้โอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโอนโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก การที่โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่พิพาทจากนายส๊ะบิดาจำเลยตามเอกสารท้ายฟ้องเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2529 โดยระบุว่านายส๊ะได้รับเงินค่าซื้อขายที่พิพาทจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว และยินยอมมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่พิพาทให้โจทก์ยึดถือไว้ ทั้งให้สิทธิโจทก์ทุกอย่างในการเข้าครอบครองปลูกสร้างอาคารในที่พิพาทนับแต่วันทำสัญญา ซึ่งยังอยู่ในระยะเวลาห้ามโอนที่พิพาทตามกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาซื้อขายที่พิพาทระหว่างโจทก์และนายส๊ะมุ่งประสงค์โอนสิทธิครอบครองทันที แม้โจทก์จะอ้างว่านายส๊ะบิดาจำเลยได้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่พิพาทมาเมื่อวันที่ 25 และ 26 พฤษภาคม 2520 แล้วนายส๊ะทำสัญญาขายที่พิพาทให้โจทก์เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2529 ซึ่งนายส๊ะครอบครองที่พิพาทมา 9 ปี 5 เดือนแล้ว และกำหนดโอนกันในวันที่19 ตุลาคม 2531 ซึ่งเป็นเวลา 11 ปี 5 เดือน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์มา สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงไม่ได้ฝ่าฝืนกฎหมายและไม่ตกเป็นโมฆะนั้น ข้ออ้างของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเพราะการทำสัญญาซื้อขายในลักษณะดังกล่าวก็เพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามโอนตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 58 ทวิดังกล่าว ย่อมเป็นการอันมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113
พิพากษายืน