คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1505/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่ตัวเลขกับตัวหนังสือในเอกสารแตกต่างกัน ถ้าเป็นเรื่องที่ศาลมิอาจหยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงได้ จึงให้รับฟังความจริงตามตัวอักษรเป็นประมาณ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 12 แต่ถ้าเป็นเรื่องที่อาจนำสืบความจริงให้ปรากฏแก่ศาลได้ จะยกเอาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 12 มาบังคับไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ให้ผู้มีชื่อนำเงิน 22,000 บาทไปฝากตัวแทนของจำเลยพร้อมด้วยสมุดฝากเงิน แต่โจทก์เขียนตัวเลขผิดไปเป็นจำนวนเงิน 2,200 บาท ส่วนตัวอักษรเขียนสองหมื่นสองพันบาทถูกต้องจำเลยได้รับเงิน 22,000 บาทนั้นไว้ ต่อมาโจทก์ทราบว่าเงินของโจทก์ขาดหายไปจากบัญชี 19,800 บาทเพราะเหตุดังกล่าว ได้บอกกล่าวให้ตัวแทนของจำเลยนำเงินที่ขาดเข้าบัญชีโจทก์ ตัวแทนของจำเลยปฏิเสธจึงขอให้ศาลบังคับ และให้เสียดอกเบี้ย 495 บาทกับดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะนำเงินเข้าบัญชี

จำเลยให้การว่า ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาอุดรธานีได้รับเงินเข้าบัญชีโจทก์เพียง 2,200 บาทเท่านั้น โจทก์เขียนใบฝากทั้งต้นขั้วและปลายขั้วจำนวนตัวเลข 2,200 บาท ตรงกัน ทั้งแสดงเครื่องหมายจำนวนเงินเรือนพันไม่ใช่หมื่นไว้ถูกต้องตรงกันอีกจึงไม่ใช่การเขียนเลข “0” ตกไป ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินหรือนำเงินเข้าบัญชีโจทก์ 19,800 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยจนกว่าจะนำเข้าบัญชีโจทก์ครบ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ฟังว่า โจทก์นำเงินไปฝากเพียง 2,200 บาทเท่านั้นพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา ซึ่งมีปัญหาเพียงข้อเดียวว่า โจทก์ได้นำเงินไปฝากกับตัวแทนจำเลย 2,200 บาท หรือ 22,000 บาท

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ให้คนนำเงินไปฝากที่ธนาคารจำเลยโดยโจทก์เขียนใบฝากเงินซึ่งเป็นต้นขั้วและปลายขั้วด้วยตนเองกรอกรายการเป็นตัวเลข 2,200 บาท ในช่องจำนวนเงินฝากและช่องรวมเงินฝากในต้นขั้วสองแห่งและปลายขั้วอีกสองแห่งส่วนจำนวนเงินที่เป็นตัวหนังสือ โจทก์เขียนสองหมื่นสองพันบาทถ้วน ในต้นขั้วและปลายขั้วอย่างละหนึ่งแห่ง ศาลฎีกาได้พิจารณาใบฝากเงินประกอบคำพยานโจทก์แล้วยังไม่อาจฟังว่าโจทก์นำเงินไปฝากเป็นจำนวน 22,000 บาทดังที่โจทก์นำสืบ ในข้อที่โจทก์ฎีกาว่าการถือเอาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 12 มาปรับกับกรณีนี้ ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จะยกเอาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 12 มาปรับในกรณีที่ตัวเลขกับตัวหนังสือในเอกสารแตกต่างกันนั้น ต้องเป็นเรื่องที่ศาลมิอาจหยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงได้ จึงให้รับฟังความจริงตามตัวอักษรเป็นประมาณ คดีนี้เป็นเรื่องอาจนำสืบความจริงให้ปรากฏแก่ศาลได้ จึงนำบทกฎหมายดังกล่าวมาบังคับไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบด้วยทางพิจารณาแล้ว

พิพากษายืน

Share