คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1501/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ออกเช็คเพื่อชำระค่าไม้ที่บริษัทจำเลยขายหรือจะขายให้โจทก์บริษัทจำเลยส่งไม้ให้ไม่ครบจำนวนโจทก์จึงฟ้องเรียกเงินที่จ่ายเกินไปนั้นคืน จากจำเลย และศาลได้พิพากษาให้บริษัทจำเลยรับผิดคืนเงินจำนวนนั้นให้โจทก์แล้ว แม้จะปรากฎว่าจำเลยได้สลักหลังเช็คนั้น ให้ธนาคารผู้เคยค้าของจำเลยรับรองต่อธนาคารผู้จ่ายว่า ได้นำเงินตามเช็ค (ขีดคล่อม) เข้าบัญชีของผู้รับเงิน คือบริษัทจำเลยแล้วและรับรองว่า ลายมือสลักหลังเช็คนั้น เป็นลายมือสลักหลังที่แท้จริงของผู้รับเงิน ธนาคารผู้จ่ายจึงจ่ายเงินตามเช็คนั้น ให้แก่ธนาคารผู้เคยค้าของจำเลยไป ดังนี้ โจทก์จะฟ้องให้ธนาคารผู้เคยค้าของจำเลยต้องรับผิดอีกด้วยไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายพงษ์ เชาว์ประดิษฐได้มาติดต่อกับโจทก์ อ้างตนว่าเป็นผู้จัดการบริษัทเฮียบเฮงหลี จำกัด จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นบริษัทไม้ซุงและเสนอขายไม้ซุงกับโจทก์ ในนามของบริษัทเฮียบเฮงหลี จำกัด จำเลยที่ ๑ โจทก์ก็ตกลง โจทก์ได้ออกเช็คตั้งแต่เดิอนสิงหาคม ๒๔๙๐ ถึงมีนาคม ๒๔๙๒ รวม ๓๑ ฉบับเป็นเงินทั้งหมด ๑,๙๑๔,๐๐๒ บาท ๕๔ สตางค์ อันเป็นเช็คของธนาคารชาเตอร์ ให้จ่ายเงินแก่บริษัทเฮียบเฮงหลี จำเลยที่ ๑ ตามคำสั่ง และเป็นเช็คขีดคล่อมทั่วไปทั้งหมด เพื่อชำระค่าไม้ซุง
ต่อมาจำเลยที่ ๑ ไม่ส่งไม้ซุงตามสัญญา และปฏิเสธว่า นายพงษ์ เชาว์ประดิษฐ์มิได้เป็นผู้จัดการของบริษัทจำเลยที่ ๑ โจทก์จึงขอให้จำเลยที่ ๑ รับผิดต่อโจทก์
และเนื่องจากธนาคารกรุงเทพ ฯ จำเลยที่ ๒ ได้นำเอาเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายดังกล่าว โดยมีลายมือชื่อนายพงษ์ เชาว์ประดิษฐ์ ไปขอรับเงินจากธนาคารชาเดอร์ แล้วเอาเข้าบัญชีส่วนตัวของนายพงษ์ เชาว์ประดิษฐ์ ที่มีอยู่กับจำเลยที่ ๒ การกระทำของจำเลยที่ ๒ เป็นการทำผิดสัญญาและละเมิดสิทธิของโจทก์ จำเลยที่ ๒ จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ฯลฯ
จำเลยทั้ง ๒ ให้การปฏิเสธความรับผิด
ศาลแพ่งทำการพิจารณาแล้ว ฟังว่าพฤติการรอบด้านแสดงว่า นายเฮียบตุ้นผู้จัดการบริษัทเฮียบเฮงหลี จำกัด และเป็นบิดาของนายพงษ์ เชาว์ประดิษฐ์ ได้ยินยอมหรือเชิดนายพงษ์ เชาว์ประดิษฐ์เป็นตัวแทนจำเลยที่ ๑ เต็มที่ โดยให้นายพงษ์ เชาว์ประดิษฐ์ออกเช็คใบรับเงินและสลักหลังเช็คในที่อื่น ๆ ในนามของบริษัทเฮียบเฮงหลี จำกัดทั่วไป จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดใน หนี้สินรายนี้ตาม ป.ม.แพ่ง ฯ มาตรา ๘๒๑ ส่วนคดีสำหรับจำเลยที่ ๒ นั้น การกระทำของจำเลยที่ ๒ การกระทำของจำเลยที่ ๒ เป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้โจทก์เจ้าของเช็คเสียหาย จึงพิพากษาให้จำเลยทั้ง ๒ ชำระเงิน ๓๑๓,๙๔๓ บาท ๖๙ สตางค์ แก่โจทก์ ฯลฯ
จำเลยทั้ง ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๒ นอกจากที่แก้คงพิพากษายืน
โจทก์แต่ฝ่ายเดียวฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ในข้อที่ว่า จำเลยที่ ๒ ผิดสัญญาโจทก์ อ้างว่า ธนาคารชาร์เตอร์เป็นตัวแทนของโจทก์ จำเลยที่ ๒ ได้รับรองต่อธนาคารชาเตอร์ว่า ได้นำงเงินตามเช็คเข้าบัญชีของผู้รับเงิน คือบริษัทเฮียบเฮงหลี จำกัดแล้ว และรับรองว่าลายมือสลักหลังเช็คนั้น เป็นลายมือสลักหลังที่แท้จริงของผู้รับเงินธนาคารชาเตอร์จึงจ่ายเงินตามเช็คนั้นให้แก่จำเลยที่ ๒ ศาลฎีกาเห็นว่า ข้ออ้างที่ว่าธนาคารเป็นตัวแทนนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะการที่ผู้สั่งจ่ายสั่งให้ผู้จ่าย จ่ายเงินให้แก่ผู้รับเงินตามลักษณะตั๋วเงินนั้นไม่ใช่เป็นการแสดงความผูกพันในฐานะตัวการตัวแทนอย่างใดเลยข้อโต้แย้งของโจทก์จึงตกไป
สำหรับที่ จะให้จำเลยที่ ๒ รับผิดฐานละเมิด หรือฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ของธนาคารตามลักษณะตั๋วเงินนั้น สาระสำคัญอยู่ที่ว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายหรือเจ้าของเช็คอันแท้จริงหรือไม่ ศาลฎีกาว่าเห็นว่าการที่โจทก์เป็นผู้สั่งจ่ายออกเช็คสั่งให้ธนาคารชาเตอร์จ่ายเงินให้บริษัทเฮียบเฮงหลีนั้น ความผูกพันระหว่างโจทก์กับบุคคลอื่นผู้เข้ามาเป็นคู่สัญญาในตั๋วเงินนั้น ก็มีอยู่แต่เพียงว่า โจทก์เป็นอันสัญญาว่า เมื่อตั๋วนั้นได้นำยื่นโดยชอบแล้ว จะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว ถ้าและตั๋วนั้นเขาไม่เชื่อถือ โดยไม่ยอมรับรองก็ดี หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี โจทก์ก็จะใช้เงินให้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือว่า การออกตั๋วเงินนั้นย่อมสันนิษฐานว่า ผู้ออกตั๋วเงินได้กระทำการเพื่อชำระหนี้ มิใช่กระทำการเพื่อก่อให้เกิดหนี้ในคดีเรื่องนี้ รูปเรื่องก็ปรากฎว่า โจทก์ออกเช็คเพื่อชำระค่าไม้ที่บริษัทเฮียบเฮงหลีขายหรือจะขายให้โจทก์บริษัทเฮียบเฮงหลี จำกัด จำเลยที่ ๑ ส่งไม่ให้ไม่ครบจำนวน โจทก์จึงเรียกเงินที่จ่ายเกินไปนั้นคืนและศาลก็ได้พิพากษาบังคับให้จำเลยที่ ๑ รับผิด คืนเงินจำนวนนั้นให้โจทก์แล้ว ฯลฯ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
จึงพิพากษายืน

Share