คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1500/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีอาญาโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 และ 365 โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในที่ดินแปลงที่ 35 และแปลงที่ 36 เนื้อที่รวม 25 ไร่ 1 งาน 85 ตารางวา ซึ่งอยู่ภายในเขตที่ดินบางส่วนของนิคมสหกรณ์ที่กันไว้เป็น ที่สาธารณประโยชน์ ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันและโจทก์ได้ ขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณประโยชน์ตามกฎหมายแล้ว จำเลย ให้การว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2498 และ ทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่จำเลย แล้วก่อนที่ พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพฯ และ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสหกรณ์ฯ มีผลใช้บังคับ หากโจทก์ ได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ก็ขึ้นทะเบียนโดยมิชอบ คดีจึงมีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่าการกันที่ดินพิพาท และขึ้นทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ถึงที่สุดว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นที่ดินที่ไม่ได้จัดสรรให้ราษฎรเข้า ทำประโยชน์ หากแต่เป็นที่ดินที่สงวนไว้สำหรับพลเมือง ใช้ประโยชน์ร่วมกัน จึงยังคงเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ของแผ่นดิน หาใช่เป็นที่ดินที่มีเอกชนเป็นเจ้าของหรือผู้เสียหายมีกรรมสิทธิ์ อย่างเอกชนไม่ คดีส่วนอาญาซึ่งถึงที่สุดดังกล่าวไม่มี ประเด็นโดยตรงว่า การกันที่ดินพิพาทและขึ้นทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ดังนั้น ในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีส่วนแพ่งจำเลยจึงมีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าสืบตามประเด็นดังกล่าวได้ และการพิจารณาคดีนี้ศาลไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษา คดีส่วนอาญา การที่ศาลชั้นต้นให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยจึงมิชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นกรมในรัฐบาล มีหน้าที่ในการบริหารและควบคุมดำเนินการเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินของรัฐเพื่อการครองชีพให้แก่ประชาชน เมื่อ พ.ศ. 2519 ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสหกรณ์ในท้องที่อำเภอพนา จังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. 2519 กำหนดให้บริเวณที่ดินในอำเภอพนา จังหวัดอุบลราชธานี ภายในแนวเขตที่ดินตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา เป็นที่ตั้งนิคมสหกรณ์พนารวมเนื้อที่ 45,625 ไร่ โจทก์ได้จัดให้ประชาชนในเขตท้องที่อำเภอพนาที่ได้รับอนุญาตเข้าเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์ตามกฎหมาย เพื่อให้สมาชิกเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์ตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2531 โจทก์ตรวจสอบพบว่า จำเลยพร้อมบริวารได้บุกรุกเข้าไปในเขตที่ดินบางส่วนของนิคมสหกรณ์พนา แปลงที่ 35 เนื้อที่ 19 ไร่ 29 ตารางวา และแปลงเลขที่ 36 เนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน 56 ตารางวา รวมเนื้อที่ทั้งสองแปลง 25 ไร่ 1 งาน 85 ตารางวา ตั้งอยู่หมู่ที่ 14 (เดิมหมู่ที่ 17) ตำบลนาหว้าอำเภอพนา จังหวัดอุบลราชธานี ที่ดินดังกล่าว โจทก์และสมาชิกนิคมสหกรณ์อำเภอพนาได้ร่วมกันกันไว้เป็นที่สาธารณประโยชน์ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน และโจทก์ได้ขึ้นทะเบียนคุมที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ตามกฎหมายแล้ว ภายหลังจากจำเลยและบริวารบุกรุกเข้าไปแล้วจำเลยได้ล้อมรั้วลวดหนามและปลูกสิ่งก่อสร้างลงในที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งนี้จำเลยมีเจตนาจะยึดถือครอบครองที่ดินดังกล่าวเป็นของตนเองโดยมิชอบ โจทก์แจ้งให้จำเลยรื้อถอนรั้วลวดหนามและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ ปรับสภาพที่ดินของโจทก์ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย แต่จำเลยเพิกเฉย ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น ในความผิดฐานบุกรุกและความผิดต่อพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 112/2535 ของศาลชั้นต้น ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนรั้วลวดหนามและสิ่งปลูกสร้างทุกชนิดออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ ให้ปรับสภาพที่ดินของโจทก์อยู่ในสภาพเรียบร้อยห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทต่อไป
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ในระหว่างสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยต่อไป จึงสั่งงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาท พิพากษาให้จำเลยรื้อถอนรั้วลวดหนามและสิ่งปลูกสร้างทุกชนิดออกไปจากที่ดินแปลงที่ 35 และ 36 หมู่ที่ 14 (เดิมหมู่ที่ 17) ตำบลนาหว้า อำเภอพนา จังหวัดอุบลราชธานี ในแนวเขตที่ดินตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสหกรณ์ในท้องที่อำเภอพนาจังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. 2519 ให้จำเลยปรับสภาพที่ดินให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย ห้ามจำเลยและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทต่อไป
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าจำเลยในคดีนี้เคยถูกพนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดอำนาจเจริญฟ้องในข้อหาบุกรุกที่ดินพิพาทในคดีนี้ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 112/2535 ของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุดแล้ว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยและพิพากษาคดีไปนั้นถูกต้องหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปในที่ดินแปลงที่ 35 และแปลงที่ 36 เนื้อที่รวม 25 ไร่ 1 งาน 85 ตารางวา ซึ่งอยู่ภายในเขตที่ดินบางส่วนของนิคมสหกรณ์อำเภอพนา จังหวัดอุบลราชธานีที่ดินทั้งสองแปลงที่จำเลยบุกรุกดังกล่าว โจทก์และสมาชิกนิคมสหกรณ์อำเภอพนาได้ร่วมกันกันไว้เป็นที่สาธารณประโยชน์ ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน กล่าวคือ ใช้เป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ร่วมกัน นอกจากนี้ยังสงวนไว้เพื่อสร้างศาลากลางบ้านไว้ทำกิจการทางสงฆ์กันไว้เป็นสนามเด็กเล่น และโจทก์ได้ขึ้นทะเบียนคุมที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ตามกฎหมายแล้ว ส่วนจำเลยให้การว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ พ.ศ. 2498 และทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่จำเลยเมื่อ พ.ศ. 2503ก่อนที่พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 และพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสหกรณ์ในท้องที่อำเภอพนา จังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. 2519 มีผลใช้บังคับ นายณรงค์ วิเศษวงศ์ ตัวแทนโจทก์ได้ทำแผนผังที่ดินสาธารณประโยชน์เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 3 โดยพลการและเพิ่งดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2535 เพื่ออ้างความชอบธรรมของตน ซึ่งย่อมไม่มีผลย้อนหลังให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยแต่อย่างใด หากตัวแทนโจทก์ได้ขึ้นทะเบียนคุมที่ดินทั้งสองแปลงให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ก็ขึ้นทะเบียนโดยมิชอบจึงมีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยในคดีนี้คือ การกันที่ดินพิพาทและขึ้นทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 112/2535 ของศาลชั้นต้นซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มีคำพิพากษาคดีส่วนอาญาถึงที่สุดแล้วอ้างเหตุผลที่ยกฟ้องโจทก์ยืนตามศาลชั้นต้นในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 และ 365 ว่า “จากคำเบิกความของนายณรงค์ วิเศษวงศ์ ว่าที่ดินตามฟ้องเป็นที่ดินที่ไม่ได้จัดสรรให้ราษฎรเข้าทำประโยชน์ เป็นที่ดินที่สงวนไว้สำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน ที่ดินตามฟ้องจึงยังคงเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ของแผ่นดิน หาใช่เป็นที่ดินที่มีเอกชนเป็นเจ้าของหรือกรมส่งเสริมสหกรณ์ผู้เสียหายมีกรรมสิทธิ์อย่างเอกชนไม่จึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ไม่ได้” คำพิพากษาคดีส่วนอาญาซึ่งถึงที่สุดดังกล่าวไม่มีประเด็นโดยตรงว่า การกันที่ดินพิพาทและขึ้นทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ดังนั้น ในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีส่วนแพ่ง จำเลยจึงมีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าสืบตามประเด็นดังกล่าวได้ และการพิจารณาคดีนี้ศาลไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยจึงมิชอบ
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share