คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14971/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์รวม 12 งวด จนกระทั่งวันที่ 28 ธันวาคม 2544 จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถบรรทุกที่เช่าซื้อทั้งสองคันให้แก่โจทก์ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองใช้ประโยชน์ในรถบรรทุกที่เช่าซื้อโดยไม่ได้ให้ค่าตอบแทนแก่โจทก์นับแต่งวดที่ 13 จนถึงวันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถบรรทุกที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ ย่อมทำให้โจทก์เสียหายเนื่องจากไม่ได้ใช้รถบรรทุกดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม มิใช่ต้องรับผิดเฉพาะกรณีที่ผิดนัดเท่านั้น
ป.วิ.พ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ บัญญัติให้ความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีและวรรคสองยังบัญญัติว่า ค่าฤชาธรรมเนียมนั้นให้รวมถึงค่าทนายความด้วย เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายแพ้คดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน1,440,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,256,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 21 มกราคม 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 756,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยคู่ความไม่ได้โต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถบรรทุกสิบล้อจำนวน 2 คัน ไปจากโจทก์ ในราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มคันละ 2,404,500 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวดรายเดือนรวม 51 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 8 มิถุนายน 2540 งวดต่อไปชำระภายในวันที่ 8 ของทุกเดือน หลังจากทำสัญญา จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์รวม 12 งวด เป็นเงินสัญญาละ 630,000 บาท โดยชำระไม่ตรงตามสัญญาและโจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญา พฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ จำเลยที่ 1 จึงยังไม่ผิดนัด ต่อมาวันที่ 28 ธันวาคม 2544 จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถบรรทุกที่เช่าซื้อทั้งสองคันคืนแก่โจทก์ โจทก์รับไว้โดยมิได้โต้แย้งและประเมินราคาคันละ 850,000 บาท ถือเป็นการสมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกัน อันเป็นการเลิกสัญญาด้วยเหตุอื่น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาโดยอาศัยข้อสัญญาซึ่งเลิกกันแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองต้องชดใช้ค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า การเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 ต้องเป็นการใช้ทรัพย์ในระหว่างผิดนัด แต่โจทก์มิได้ถือกำหนดเวลาในสัญญาเป็นสาระสำคัญและไม่ได้บอกเลิกสัญญาจะถือว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองรถบรรทุกที่เช่าซื้อในระหว่างผิดนัดไม่ได้ ทั้งการเรียกค่าขาดประโยชน์ซ้ำซ้อนกับค่าเช่าซื้อนั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้ผิดนัด และโจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญาจริงดังที่ฎีกามาก็ตาม แต่ตามข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติได้ความว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์รวม 12 งวด จนกระทั่งวันที่ 28 ธันวาคม 2544 จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถบรรทุกที่เช่าซื้อทั้งสองคันให้แก่โจทก์ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองใช้ประโยชน์ในรถบรรทุกที่เช่าซื้อโดยไม่ได้ให้ค่าตอบแทนแก่โจทก์นับแต่งวดที่ 13 จนถึงวันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถบรรทุกที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ ย่อมทำให้โจทก์เสียหายเนื่องจากไม่ได้ใช้รถบรรทุกดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม มิใช่ต้องรับผิดเฉพาะกรณีที่ผิดนัดเท่านั้น อีกทั้งนายสิทธิชัย พยานจำเลยทั้งสองก็เบิกความยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์จากจำเลยที่ 1 ได้ ซึ่งค่าขาดประโยชน์ส่วนนี้มิได้ซ้ำซ้อนกับค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระไปแล้วแต่อย่างใด ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าขาดประโยชน์ให้โจทก์คันละ 378,000 บาท รวมเป็นเงิน 756,000 บาท นับว่าเหมาะสมแล้ว
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์มิได้อุทธรณ์และไม่ได้เสียค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ บัญญัติให้ความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีและวรรคสองยังบัญญัติว่า ค่าฤชาธรรมเนียมนั้นให้รวมถึงค่าทนายความด้วย เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายแพ้คดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท จึงชอบแล้ว ฎีกาทุกข้อของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 3,000 บาท แทนโจทก์

Share