แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าอาวาส สั่งให้จำเลยที่ 2 กับพวก รื้อกุฏิ 6 หลัง รวมทั้งกุฏิที่จำเลยที่ 1 และกุฎิที่พระภิกษุโจทก์อาศัยอยู่ด้วยเพื่อไปปลูกรวมกับกุฎิอื่นให้เป็นกลุ่มเดียวกัน เป็นการบำรุงรักษาวัดจัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าอาวาสของวัดมีอำนาจกระทำได้ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 37(1) การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานโดยเป็นเจ้าอาวาสวัดรวกสุทธารามมีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์สินของวัดและปกครองพระภิกษุซึ่งอยู่ในวัด ได้สั่งให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเคยเป็นพระภิกษุในวัดกับพวก เข้าไปในกุฏิและงัดกุญแจห้องของโจทก์ กับรื้อถอนกุฏิอันเป็นเคหสถานในความครอบครองของโจทก์ จำเลยที่ 2 กับพวกได้งัดกุญแจห้องของโจทก์แล้วรื้อถอนกุฏิทั้งหลังตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ทำให้ทรัพย์สินของโจทก์สูญหายรวมเป็นเงิน 17,760 บาท การกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์เป็นการทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้เสื่อมค่า และทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินของโจทก์ นอกจากนี้การกระทำของจำเลยที่ 1 ยังเป็นการปฏิบัติและละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการสนับสนุนการกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 86, 157, 358, 362, 364, 365
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ให้ประทับฟ้องของโจทก์เฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 362 และ 365
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่มาแก้ข้อหาแห่งคดี ศาลชั้นต้นจึงออกหมายจับแล้วยังจับไม่ได้ จึงสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ชั่วคราว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการใช้ให้จำเลยที่ 2 กับพวกรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ก่อนที่จำเลยที่ 2 กับพวกจะรื้อกุฏิ 6 หลังโจทก์ไม่ได้อยู่ที่วัดรวกสุทธารามเพราะไปประกอบศาสนกิจที่จังหวัดราชบุรี โจทก์ใส่กุญแจห้องในกุฏิซึ่งเก็บทรัพย์สินบางอย่างของโจทก์ไว้ จำเลยที่ 2 รื้อกุฏิที่โจทก์อาศัยในขณะที่โจทก์ไม่อยู่จำเลยที่ 1 สั่งให้รื้อกุฏิ 6 หลัง รวมทั้งกุฏิที่จำเลยที่ 1อาศัยอยู่ด้วย รื้อกุฏิที่จำเลยที่ 1 อาศัยอยู่กับกุฏิอื่น ๆรวม 4 หลัง ก่อนรื้อกุฏิที่โจทก์อาศัยอยู่ เป็นการสั่งให้รื้อเพื่อไปปลูกรวมกับกุฏิที่อยู่ทางทิศเหนือของโบสถ์ อันเป็นการกระทำเพื่อให้กุฏิรวมเป็นกลุ่มเดียวกัน เป็นการบำรุงรักษาวัดจัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าอาวาสของวัดมีอำนาจกระทำได้ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 37(1) การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานบุกรุกฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน