คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1494/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สามีเป็นผู้จัดการและมีอำนาจจำหน่ายสินบริคนห์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1468,1473 เมื่อภริยาอ้างว่าการซื้อขายสินบริคนห์ระหว่างสามีกับผู้ซื้อเป็นการสมยอมกันเป็นโมฆะ ภริยาผู้อ้างก็มีหน้าที่จะต้องนำสืบให้ได้ความตามนั้น จึงจะชนะคดี

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าที่ดินโฉนดที่ 1870 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ กับหม่อมเจ้าปรานี บิดาจำเลย เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2489 หม่อมเจ้าปรานีขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้แก่จำเลยโดยสมยอมมิได้มีการชำระเงินและราคาปกปิดมิให้โจทก์ทราบเพื่อให้โจทก์หมดสิทธิ ต่อมาวันที่ 19 ธันวาคม 2490 จำเลยนำไปจำนองธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด แล้วจำเลยได้ขายให้นายบุญทองเป็นเงิน 550,000 บาท ครั้นวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2493 หม่อมเจ้าปรานีวายชนม์ โจทก์มีสิทธิได้ 1 ใน 3 ส่วน ขอให้ศาลแสดงว่านิติกรรมโอนขายที่ดินโฉนดที่ 1870 ระหว่างหม่อมเจ้าปรานีกับจำเลยเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน 1 ใน 3 ส่วนหรือให้จำเลยใช้เงิน 183,000 บาท แก่โจทก์

จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์ไม่ใช่ภริยาของหม่อมเจ้าปรานี แม้จะฟังว่าเป็นสินสมรสสามีก็มีอำนาจขายทรัพย์สินนั้นได้ และหม่อมเจ้าปรานีได้โอนขายให้จำเลยโดยสุจริต และเปิดเผยในราคาอันสมควร นอกจากนี้จำเลยยังต่อสู้ในข้ออื่น ๆ อีกหลายประการ

ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้องโจทก์และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาโดยโจทก์ฝ่ายเดียวฎีกาคัดค้านว่าการซื้อขายระหว่างหม่อมเจ้าปรานีกับจำเลย เป็นการสมยอมกัน

ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ดินรายพิพาทโฉนดที่ 1870 มีชื่อหม่อมเจ้าปรานีแต่ผู้เดียวเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แม้จะเป็นทรัพย์สินสมรสดังที่โจทก์อ้าง สามีก็เป็นผู้จัดการสินบริคณห์และมีอำนาจจำหน่ายสินบริคณห์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1468 และ 1473 เมื่อโจทก์อ้างว่าการซื้อขายระหว่างหม่อมเจ้าปรานีกับจำเลย เป็นการสมยอมกัน ซึ่งจะต้องตกเป็นโมฆะโจทก์ก็มีหน้าที่ที่จะต้องนำสืบให้ประจักษ์ ว่าเป็นเช่นนั้น เมื่อโจทก์สืบไม่ได้โจทก์ก็ต้องแพ้

พิพากษายืน ให้ยกฎีกาของโจทก์

Share