คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1491/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บิดามารดาของฝ่ายชายยกที่นามือเปล่าให้แก่มารดาของฝ่ายหญิงแทนเงินค่าสินสอด โดยทำหนังสือสัญญากันเองและได้ชี้เขตแบ่งแยกออกจากที่นาผืนใหญ่ของตน ทั้งมารดาของฝ่ายหญิงก็เข้าครอบครองที่นานั้นแล้ว ดังนี้ ถือได้ว่าสิทธิครอบครองที่นาส่วนนั้นตกได้แก่มารดาของฝ่ายหญิงแล้ว โดยไม่จำต้องไปจดทะเบียน
สิทธิของชายที่จะเรียกคืนสินสอดในกรณีที่การสมรสไม่สมบูรณ์เพราะขาดการจดทะเบียนนั้น จะต้องปรากฏว่าหญิงเป็นฝ่ายผิด ไม่ยอมจดทะเบียนสมรส

ย่อยาว

ได้ความว่า นายบุญมาบุตรจำเลยได้ทำพิธีแต่งงานกับนางสาวบุญแต่งบุตรโจทก์ ในวันแต่งงานจำเลยไม่มีเงินสินสอดไปให้โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้เป็นเงิน 8,000 บาท จำเลยจึงได้ทำหนังสือโดยใช้แบบพิมพ์สัญญากู้ฉบับหนึ่งให้โจทก์ยึดถือไว้มีข้อความกล่าวถึงจำนวนเงิน8,000 บาท และนำเอาที่ดิน 10 ไร่มาแทนเงิน 8,000 บาท ตอนท้ายระบุว่าจะไม่เอากลับคืนนับแต่วันทำสัญญา นายบุญมาได้อยู่กินกับนางสาวบุญแต่งที่เรือนโจทก์ได้ราว 2 เดือนก็กลับไปอยู่ที่บ้านจำเลย นายบุญมากับนางสาวบุญแต่งมิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายต่อมานายบุญมาถูกคนร้ายแทงตายโจทก์เข้าไถหว่านในที่พิพาทเนื้อที่10 ไร่นั้น ต่อมาจำเลยเข้าไถหว่านทับ โจทก์จึงฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่นาพิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง และให้ใช้ค่าเสียหายในการไม่ได้ทำนา 2,400 บาท

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า นาพิพาทได้สิทธิครอบครองเป็นของโจทก์แล้ว ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้อง กับให้ใช้ค่าเสียหาย 1,400 บาทแก่โจทก์

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่พิพาทเป็นที่นามือเปล่า เมื่อจำเลยสละสิทธิครอบครองให้โจทก์ ทั้งได้นำชี้เขตแบ่งแยกจากที่นาผืนใหญ่ของจำเลย และโจทก์ก็ได้เข้าครอบครองไถหว่านในที่พิพาทแล้วจึงถือได้ว่าสิทธิครอบครองที่พิพาทตกได้แก่โจทก์ โดยไม่จำต้องไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

การที่ไม่มีการจดทะเบียนสมรสนั้น ฟังได้ว่าเป็นเรื่องที่บุตรชายของจำเลยเองไม่ยอมไปจดทะเบียน หาใช่เป็นความผิดของบุตรสาวโจทก์ไม่ สิทธิของชายที่จะเรียกคืนสินสอดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1463 ในกรณีที่การสมรสไม่สมบูรณ์เพราะขาดการจดทะเบียนนั้น ต้องปรากฏว่าหญิงเป็นฝ่ายผิดไม่ยอมจดทะเบียนสมรส ตามนัยฎีกาที่ 659/2487 (ที่จำเลยฎีกาว่านายบุญมากับนางสาวบุญแต่งยังมิได้เป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิได้ที่พิพาทไว้เป็นกรรมสิทธิ์ นั้นจึงฟังไม่ขึ้น)

ส่วนค่าเสียหายโจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้อง จึงพิพากษายืน

Share