คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 149/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้พิพากษาซึ่งเคยนั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น แม้จะถูกย้ายไปอยู่ศาลอื่นก็ตาม ถ้าหากยังคงเป็นผู้พิพากษาอยู่ ก็ย่อมอนุญาตให้คู่ความในคดีนั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221
คดีของโจทก์มีพยานเอกสารมากมาย เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าพยานบุคคลรับฟังไม่ได้ แม้มีพยานเอกสารมาเจือสมก็ไม่มีผลดีแก่คดีของโจทก์แล้ว ศาลอุทธรณ์จะไม่พิจารณาพยานเอกสารนั้นๆ ต่อไปก็ได้ ไม่เป็นการผิดกฎหมาย
คดีลักทรัพย์ ถ้าปรากฏว่าจำเลยได้กระทำผิดก่อนเจ้าทรัพย์ถึงแก่กรรมทายาทหรือผู้จัดการมรดกของเจ้าทรัพย์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องร้องเพราะไม่ใช่ผู้เสียหาย
ฟ้องโจทก์ได้กล่าวหาว่าจำเลยปลอมหนังสือสัญญากู้และกระทำพยานหลักฐานเท็จตั้งแต่ระยะเวลาก่อนผู้เสียหายถึงแก่กรรมตลอดมาจนภายหลังถึงแก่กรรม คดีไม่อาจชี้ได้ว่าจำเลยกระทำผิดในระยะใด คดีไม่มีทางที่จะรู้ได้ว่าโจทก์จะมีอำนาจฟ้องได้หรือไม่ เช่นนี้ในชั้นฎีกาก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณาข้อเท็จจริงต่อไป
ในข้อหาที่ว่าจำเลยอ้างหลักฐานเท็จในคดีแพ่ง คือหาว่าจำเลยอ้างสัญญากู้ที่จำเลยทำปลอมขึ้นโดยเจตนาจะใช้แทนสัญญากู้ฉบับที่จำเลยกู้เงินจากผู้ตาย ดังนี้เมื่อเป็นคดีที่จำเลยฟ้องร้องกันเองในคดีแพ่ง โจทก์ซึ่งเป็นทายาทหรือผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ย่อมไม่ใช่เป็นผู้เสียหายในคดีนั้นจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาในข้อหาฐานอ้างหลักฐานเท็จ

ย่อยาว

อัยการโจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2485 วันเวลาใดไม่ปรากฏจำเลยทั้ง 4 ได้สมคบกันลักเอาเอกสารสัญญากู้ของนายพรท มัธยมจันทร์ (หลวงจำนงยุทธกิจ) ไป 3 ฉบับพร้อมด้วยโฉนด นายพรท มัธยมจันทร์ถึงแก่กรรมเมื่อ วันที่ 10 มีนาคม 2485

ในระหว่างเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 1, 2, 3 สมคบกันปลอมหนังสือกู้ขึ้นแทนสัญญากู้ฉบับที่จำเลยที่ 1 กู้นายพรทต่อมาระหว่างวันที่ 6 มิถุนายน ถึงวันที่ 20มิถุนายน 2485 จำเลยที่ 1, 2, 3 ได้สมคบกันทำหนังสือกู้ปลอมไปอ้างในคดีที่จำเลยที่ 2 ฟ้องเรียกเงินกู้จากจำเลยที่ 1 ขอให้ลงโทษตาม กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 157, 223, 224, 226, 288, 293 และแก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายอาญา พ.ศ. 2477มาตรา 4 จำเลยให้การปฏิเสธ

ต่อมา พ.อ.ชิต ป.มัธยมจันทร์ พระนิติธารณ์พิเศษ น.อ.ชด มัธยมจันทร์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการ ศาลชั้นต้นเห็นว่าพยานหลักฐานไม่พอฟังลงโทษจำเลยได้ พิพากษายกฟ้อง แต่มีผู้พิพากษานายหนึ่งทำความเห็นแย้งว่า คดีควรลงโทษจำเลยที่ 1, 2, 3 ฐานปลอมหนังสือได้ และลงโทษจำเลยที่ 2, 3 ฐานลักทรัพย์ได้

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องขอเข้าเป็นโจทก์ ทั้ง 3 คนฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา แต่ในเวลาที่อนุญาตให้ฎีกานั้นได้ย้ายไปเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว

ศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า เรื่องอนุญาตให้ฎีกานั้น ผู้พิพากษาซึ่งเคยนั่งพิจารณาคดีนั้น แม้จะถูกย้ายไปอยู่ศาลอื่นแล้วก็ตาม ถ้าหากยังคงเป็นผู้พิพากษาอยู่ ก็ย่อมอนุญาตให้ฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221

ในข้อที่โจทก์ฎีกาว่า พยานเอกสารในคดีนี้มีมากมาย ศาลอุทธรณ์พิจารณาแต่พยานบุคคล ถ้าหากศาลอุทธรณ์พิจารณาพยานเอกสารถี่ถ้วนทุกฉบับแล้วล้วนเจือสมพยานบุคคลของโจทก์ตามฟ้องทุกประการคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่าเมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าพยานบุคคลรับฟังไม่ได้ ซึ่งแม้จะมีพยานเอกสารเจือสมก็ไม่มีผลแก่คดีของโจทก์แล้วศาลอุทธรณ์จะไม่พิจารณาพยานเอกสารนั้นต่อไปก็ได้ ไม่เป็นการผิดกฎหมาย

ฎีกาโจทก์ข้อที่ว่า ศาลล่างวินิจฉัยว่าอาจไม่ได้ตรวจตู้เซฟถี่ถ้วนจึงไม่พบสัญญากู้ 3,000 บาท ทั้ง ๆ ที่โจทก์มีพยานหลายปากยืนยันในข้อนี้ตรงทุกปากคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นความสันนิษฐานโดยปราศจากพยานหลักฐานสนับสนุนและขัดด้วยเหตุผล เป็นการฝืนพยานหลักฐานในสำนวน จึงคลาดเคลื่อนต่อกฎหมายนั้น เห็นว่าศาลล่างได้วินิจฉัยชี้ขาดในข้อนี้โดยอาศัยพยานหลักฐานในสำนวนสนับสนุน จึงมิใช่คำวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนด้วยกฎหมาย

โจทก์เสนอหลักฐานกล่าวอ้างพยานหลายอย่างอันเป็นข้อแสดงว่าจำเลยได้สมคบกันลักทรัพย์ไปก่อนวันหลวงจำนงค์ถึงแก่กรรม ศาลฎีกาเห็นว่า ถ้าข้อเท็จจริงเป็นดังฎีกาโจทก์ก็เป็นเรื่องจำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์ก่อนหลวงจำนงฯ ถึงแก่กรรม โจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้เสียหายทั้ง 3 คนก็ไม่มีอำนาจเป็นโจทก์ร้อง เพราะหลวงจำนงฯเป็นผู้เสียหาย โจทก์เป็นทายาทหรือผู้จัดการมรดกย่อมไม่มีอำนาจฟ้องร้อง

ข้อหาฐานปลอมหนังสือในฟ้องของโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดตั้งแต่ระยะเวลาก่อนหลวงจำนงฯ ถึงแก่กรรม ตลอดมาจนภายหลังถึงแก่กรรมแล้ว แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงไม่อาจชี้ได้ว่าจำเลยกระทำผิดในระยะใด ถ้าหากจำเลยทำปลอมขึ้นก่อนโจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้เสียหายย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อคดีไม่มีทางจะรู้ว่าโจทก์จะมีอำนาจฟ้องไม่เช่นนี้ ก็ไม่จำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงต่อไป

ข้อหาฐานกระทำพยานหลักฐานเท็จตามมาตรา 157 ก็ดุจเดียวกับความผิดฐานปลอมหนังสือ ส่วนข้อที่ว่าจำเลยอ้างหลักฐานเท็จในคดีแพ่งก็ได้ความว่าเป็นกรณีจำเลยฟ้องกันเองโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายทั้งสามมิใช่ผู้เสียหายในคดีนั้น จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

พิพากษายืน

Share