แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาด จำเลยที่ 2 จึงต้องห้ามมิให้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน ตามมาตรา 22 และ 24 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ร่วมกับร้อยเอก ท. จดทะเบียนจำนองที่ดินให้แก่ผู้คัดค้าน ภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาด จึงเป็นการกระทำที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย การจดทะเบียนจำนองในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 ผู้คัดค้านและจำเลยที่ 2 จึงไม่อาจอ้างอิงแสวงสิทธิจากนิติกรรมที่เสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมดังกล่าว แม้ผู้คัดค้านรับจำนองไว้โดยสุจริตก็ไม่ทำให้นิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะกลับมีผลสมบูรณ์ขึ้นมาได้ ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่เคยรับทราบและให้ความยินยอมในการจดทะเบียนจำนองของจำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้าง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมดังกล่าวได้ ซึ่งการยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างเช่นนี้ มิใช่เป็นการบังคับสิทธิเรียกร้อง ตามมาตรา 193/9 จึงไม่ตกอยู่ในบังคับบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องกำหนดอายุความที่จะบังคับให้ผู้ร้องต้องใช้สิทธิภายในกำหนดอายุความแต่อย่างใด และการที่ผู้ร้องขอเพิกถอนนิติกรรมการจำนองโดยยังไม่เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมอื่นก็ไม่เป็นการทำให้ผู้คัดค้านเสียสิทธิ เนื่องจากสิทธิของผู้คัดค้านมีอยู่โดยชอบอย่างไร ผู้คัดค้านก็ยังบังคับตามสิทธิของผู้คัดค้านได้ ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ทั้งสองเด็ดขาด เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2539 และพิพากษาให้จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2541
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 26507 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) ระหว่างจำเลยที่ 2 และผู้คัดค้าน และให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่ดำเนินการขอให้ถือเอาคำสั่งหรือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลแพ่งพิพากษาว่า ผู้คัดค้านรับจำนองโดยสุจริต การจำนองจึงสมบูรณ์และมีผลผูกพันทรัพย์จำนองทั้งหมดทุกส่วน เมื่อผู้คัดค้านฟ้องบังคับจำนองและศาลพิพากษาให้บังคับตามสัญญาจำนองแล้ว ผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาได้ ผู้ร้องจะมาร้องขอให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาท ให้การบังคับคดีมีผลผิดไปจากคำพิพากษาหาได้ไม่ จึงมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้อุทธรณ์โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2539 ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาด ต่อมาวันที่ 10 เมษายน 2541 จำเลยที่ 2 และร้อยเอกทรงพล จดทะเบียนซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 26507 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) จากนายธนาฤทธิ์ โดยจำเลยที่ 2 และร้อยเอกทรงพล ทำสัญญากู้เงินจำนวน 3,000,000 บาท จากผู้คัดค้านเพื่อซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว จำเลยที่ 2 และร้อยเอกทรงพลได้จดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวเป็นประกันหนี้เงินกู้แก่ผู้คัดค้าน ต่อมาผู้คัดค้านนำเจ้าพนักงานบังคับคดี ในคดีของศาลจังหวัดนนทบุรี คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 751/2545 ไปยึดที่ดินดังกล่าว และเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินได้เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2552 ในราคา 2,400,000 บาท โดยผู้คัดค้านเป็นผู้ซื้อได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องมีว่า ผู้ร้องมีอำนาจร้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 26507 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) ระหว่างจำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านหรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดในวันที่ 1 เมษายน 2539 จำเลยที่ 2 จึงต้องห้ามมิให้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน ตามมาตรา 22 และ 24 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ร่วมกับร้อยเอกทรงพลจดทะเบียนจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้าน ภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาด จึงเป็นการกระทำที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย การจดทะเบียนจำนองในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ผู้คัดค้านและจำเลยที่ 2 จึงไม่อาจอ้างอิงแสวงสิทธิจากนิติกรรมที่เสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมดังกล่าว แม้ผู้คัดค้านรับจำนองไว้โดยสุจริตก็ไม่ทำให้นิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะกลับมีผลสมบูรณ์ขึ้นมาได้ ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่เคยรับทราบและให้ความยินยอมในการจดทะเบียนจำนองของจำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมดังกล่าวได้ ซึ่งการยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างเช่นนี้ มิใช่เป็นการบังคับสิทธิเรียกร้อง ตามมาตรา 193/9 จึงไม่ตกอยู่ในบังคับบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องกำหนดอายุความที่จะบังคับให้ผู้ร้องต้องใช้สิทธิภายในกำหนดอายุความแต่อย่างใด และการที่ผู้ร้องขอเพิกถอนนิติกรรมการจำนองโดยยังไม่เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมอื่นก็ไม่เป็นการทำให้ผู้คัดค้านเสียสิทธิ เนื่องจากสิทธิของผู้คัดค้านมีอยู่โดยชอบอย่างไร ผู้คัดค้านก็ยังบังคับตามสิทธิของผู้คัดค้านได้ ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 26507 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) ระหว่างจำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านได้ การที่ศาลแพ่งยกคำร้องของผู้ร้อง จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 26507 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) ระหว่างจำเลยที่ 2 และผู้คัดค้าน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ