คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1481/2482

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกระทำผิดฐานแจ้งความเท็จตาม พ.ร.บ.รัชชูปการเมื่อวันที่ 8/1/2480 โจทก์เพิ่งมาฟ้องเมื่อวันที่ 31/6/2482 เมื่อ พ.ร.บ.รัชชูปการที่ได้ยกเลิกแล้ว ศาลยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา ม.39(5) ม.5 แห่ง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลรัษฎากรนั้นใช้บังคับแต่ในทางแพ่งเท่านั้น ส่วนโทษทางอาญาเป็นอันยกเลิก.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๔๘๒ หาว่าจำเลยค้างเงินรัชชูปการ ๒๔๗๙ เมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๔๘๐ เจ้าพนักงานเรียกจำเลยมาสอบสวนข้อที่จำเลยไม่เสียเงินรัชชูปการและการยึดทรัพย์ จำเลยเอกความที่รู้อยู่ว่าเป็นเท็จมาแจ้งแก่จำเลยตาม พ.ร.บ.รัชชูปการ ๒๔๖๘ ม.๑๐๑๓(๓)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าพ.ร.บ.รัชชูปการนั้นถูกยกเลิกแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๘๒ แล้วโดย ม.๔ แห่ง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลรัษฎากร ๒๔๘๑ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเมื่อกระทำผิดกฎหมายยังใช้อยู่ แต่เมื่อตัดสินจะเอากฎหมายที่ยกเลิกแล้วมาใช้ไม่ได้และการลงโทษเพราะกล่าวเท็จนี้หาใช่บังคับในการเก็บภาษีอากรที่กฎหมายให้ใช้ไม่ จึงพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยศาลล่างทั้งสองว่า แม้ขณะจำเลยทำความผิดกฎหมายยังใช้อยู่ก็ดี แต่เมื่อพิจารณาคดีกฎหมายนั้นยกเลิกไม่ใช่แล้วศาลจะลงโทษจำเลยไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๓๙(๕) ส่วน ม.๕ แห่ง พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรนั้นใช้บังคับแต่ในทางแพ่ง ส่วนโทษอาญาเป็นอันยกเลิกไม่ใช้แล้ว จึงพิพากษายืนตามศาลล่าง

Share