คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1480/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เป็นบุตร ส. เจ้ามรดก กับ ย. ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ต่อมาเจ้ามรดกอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์มีบุตรด้วยกันอีก 3 คน เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 468 ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เป็นของเจ้ามรดกส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ซึ่งอยู่ติดต่อกันเป็นของ น. ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม 2524 น. จดทะเบียนยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ ย. ภายหลังจาก ย. ถึงแก่ความตาย เจ้ามรดกจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินดังกล่าว สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 468 และบ้านเลขที่ 113 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าว เจ้ามรดกจดทะเบียนยกให้จำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่ 20 กันยายน 2545 เจ้ามรดกทำพินัยกรรมโดยมีเจตนาระบุเกี่ยวกับทรัพย์สินไว้ในพินัยกรรมว่า ที่ดินและบ้านเลขที่ 113 มอบให้จำเลยที่ 2 ครอบครองเป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลาน เหลน น้อง ๆ มีสิทธิมาพักเสมือนมีพ่ออยู่ (ห้ามขายมรดกชิ้นนี้) ส่วนทรัพย์อื่น ๆ ยกให้โจทก์ จำเลยที่ 2 และบุตรของเจ้ามรดกซึ่งเกิดกับโจทก์อีก 3 คน และให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นน้องชายเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2545 เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2546 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ให้จำเลยที่ 2 ตามข้อกำหนดในพินัยกรรม เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 468 พร้อมบ้านเลขที่ 113 และที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ให้แก่จำเลยที่ 3 การที่เจ้ามรดกทำหนังสือสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 468 และสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 113 แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2529 ก่อนที่เจ้ามรดกจะถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 468 พร้อมบ้านเลขที่ 113 นับแต่ได้รับการยกให้ เจ้ามรดกจึงไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์ดังกล่าวนับแต่ยกให้จำเลยที่ 2 เจ้ามรดกจึงไม่มีสิทธินำที่ดินโฉนดเลขที่ 468 พร้อมบ้านเลขที่ 113 ซึ่งเป็นของผู้อื่นไปทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ใดได้อีก ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ระบุว่า ยกบ้านเลขที่ 113 ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่แล้วจึงไม่อาจบังคับได้ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 แม้ตามพินัยกรรมจะมีข้อกำหนดห้ามจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามพินัยกรรมโอนทรัพย์สินนั้น แต่ก็ไม่ได้กำหนดให้มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดนอกจากผู้รับประโยชน์ตามพินัยกรรมที่จะให้เป็นผู้รับทรัพย์สินนั้นต่อไปอย่างเด็ดขาด กรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1700 วรรคสาม ที่ให้ถือว่าข้อกำหนดห้ามโอนนั้นเป็นอันไม่มีเลย ดังนั้น เมื่อเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวมีสิทธิจำหน่ายจ่ายโอนหรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินนั้นได้ จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 และบ้านเลขที่ 113 ตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 113 ถนนรัฐคำนึง ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา คืนให้แก่จำเลยที่ 2 หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติโดยที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรนายสุรเทพ เจ้ามรดก กับนางสุนีย์ ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนเจ้ามรดกแล้ว ต่อมาตั้งแต่ปี 2522 นายสุรเทพอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์และมีบุตรด้วยกันอีก 3 คน เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2545 นายสุรเทพถึงแก่ความตาย ก่อนถึงแก่ความตายนายสุรเทพทำพินัยกรรม ซึ่งระบุให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 468 ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เจ้ามรดกและนายนิตย์ ร่วมกันซื้อจากนายอุดร เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2513 ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2514 เจ้ามรดกและนายนิตย์ตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าว โดยเจ้ามรดกยังคงมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนที่เหลือตามโฉนดเลขที่ 468 ส่วนนายนิตย์ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่ได้รับส่วนแบ่งไปตามที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม 2524 นายนิตย์จดทะเบียนยกที่ดินดังกล่าวให้แก่นางสุนีย์ ภายหลังจากนางสุนีย์ถึงแก่ความตาย เจ้ามรดกจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2537 สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 468 และบ้านเลขที่ 113 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าวเจ้ามรดกจดทะเบียนยกให้จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2529 ต่อมาวันที่ 20 กันยายน 2545 เจ้ามรดกทำพินัยกรรมตามสำเนาพินัยกรรมโดยมีเจตนาระบุทรัพย์สินไว้ในพินัยกรรมว่า บ้านและที่ดินเลขที่ 113 ถนนรัฐคำนึง ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา มอบให้จำเลยที่ 2 ครอบครองเป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลาน เหลน น้อง ๆ มีสิทธิมาพักเสมือนมีพ่ออยู่ (ห้ามขายมรดกชิ้นนี้) ส่วนทรัพย์อื่น ๆ ของเจ้ามรดกยกให้โจทก์ จำเลยที่ 2 และบุตรของนายสุรเทพซึ่งเกิดกับโจทก์อีก 3 คน และระบุให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นน้องชายเจ้ามรดกเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ภายหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2546 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ตามสำเนาโฉนดที่ดิน ให้แก่จำเลยที่ 2 ตามข้อกำหนดในพินัยกรรม และเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 468 ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินคือบ้านเลขที่ 113 ถนนรัฐคำนึง ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา และที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ให้แก่จำเลยที่ 3 ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดิน ต่อมาจำเลยที่ 1 ขอถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดก โจทก์ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดก
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามจะต้องร่วมกันโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา และบ้านเลขที่ 113 ถนนรัฐคำนึง ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ให้กลับเป็นของจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1700 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในหมวดนี้ บุคคลจะจำหน่ายทรัพย์สินใด ๆ โดยนิติกรรมที่มีผลในระหว่างมีชีวิต หรือเมื่อตายแล้ว โดยมีข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้รับประโยชน์โอนทรัพย์สินนั้นก็ได้ แต่ต้องมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งนอกจากผู้รับประโยชน์กำหนดไว้ สำหรับเป็นผู้จะได้รับทรัพย์สินนั้นเป็นสิทธิเด็ดขาด ในเมื่อมีการละเมิดข้อกำหนดห้ามโอน และบัญญัติไว้ในวรรคสามอีกว่า ถ้ามิได้กำหนดบุคคลที่จะเป็นผู้รับทรัพย์สินในเมื่อมีการละเมิดข้อกำหนดห้ามโอนไว้ ให้ถือว่าข้อกำหนดห้ามโอนนั้นเป็นอันไม่มีเลย ตามพินัยกรรมแม้จะมีข้อกำหนดห้ามจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามพินัยกรรมขายทรัพย์มรดก โดยระบุให้เป็นมรดกตกทอดถึงลูก หลาน และให้พี่น้องซึ่งเป็นทายาทอื่นมีสิทธิอาศัยได้เสมือนตอนที่เจ้ามรดกยังมีชีวิต ซึ่งเป็นการที่เจ้ามรดกเขียนพินัยกรรมแสดงความห่วงใยและต้องการให้บุตรหลานมีความรักใคร่กลมเกลียวพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันภายหลังจากที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย โดยขณะทำพินัยกรรมข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ยังเป็นโสดหรือสมรสแล้วและมีบุตรหรือไม่ ส่วนคำว่าพี่น้องให้มีสิทธิอาศัยได้นั้นตามเจตนาของเจ้ามรดกน่าเชื่อว่าหมายถึงบุตรของเจ้ามรดกอีก 3 คน ที่เกิดกับโจทก์ ซึ่งเจ้ามรดกก็ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าหากจำเลยที่ 2 ฝ่าฝืนข้อกำหนดในพินัยกรรมโดยการโอนขายที่ดินพิพาทเจ้ามรดกก็ไม่ได้กำหนดทายาทที่เจตนามอบหมายให้ทรัพย์ส่วนดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่บุตรอีก 3 คน ที่เกิดกับโจทก์แต่อย่างใด คงระบุให้เพียงมีสิทธิอาศัยเท่านั้น ดังนั้น ตามพินัยกรรมที่เจ้ามรดกมีข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้รับประโยชน์โอนทรัพย์สินแต่ก็ไม่ได้กำหนดให้มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดนอกจากผู้รับประโยชน์ตามพินัยกรรมที่จะให้เป็นผู้รับทรัพย์สินนั้นต่อไปอย่างเด็ดขาด กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1700 วรรคสาม ที่ให้ถือว่าข้อกำหนดห้ามโอนนั้นเป็นอันไม่มีเลย เมื่อเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวมีสิทธิจำหน่ายจ่ายโอนหรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินนั้นได้ จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 และบ้านเลขที่ 113 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share