คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 148/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อตกลงให้นำเงินฝากประจำไปหักกลบลบหนี้นั้นไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือ หนังสือขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเป็นเพียงคำเสนอฝ่ายเดียวของจำเลย ในการขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ไม่ใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร ดังนั้นเอกสารฉบับนี้จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีคือสัญญาบัญชีเดินสะพัดซึ่งไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือดังนั้น แม้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องบังคับคดีได้.

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยเรียกโจทก์สำนวนแรก ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 สำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 1 เรียกจำเลยที่ 2 สำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2 เรียกจำเลยสำนวนแรกซึ่งเป็นโจทก์สำนวนหลังว่า จำเลย
โจทก์ที่ 1 ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องสำนวนแรก และโจทก์ที่ 1 ที่ 2ให้การแก้คดีสำนวนหลังใจความทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 12เมษายน 2520 จำเลยได้เปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ที่ 1 สาขาสัตหีบ ยอมปฏิบัติตามระเบียบการฝากเงินตามประเพณีและวิธีปฏิบัติงานของธนาคารพาณิชย์ ในการเดินสะพัดบัญชีต่อกัน หากเงินในบัญชีมีไม่พอจ่าย โจทก์จ่ายให้ไป จำเลยยอมรับผิดชดใช้พร้อมดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนตามอัตราขั้นสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดจนกว่าจะชำระเสร็จ และต่อมาวันที่ 7 มิถุนายน 2520 จำเลยได้ตกลงกู้เบิกเงินเกินบัญชีจากบัญชีดังกล่าวโดยยอมให้ดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยได้นำเงินเข้าบัญชีและถอนเงินออกจากบัญชีต่อมาหลายครั้ง และได้นำเงินฝากประจำบัญชีเลขที่ 348 มาเป็นประกันการชำระหนี้และตกลงให้โจทก์ที่ 1 โอนเงินฝากบัญชีเลขที่ 348ชำระหนี้ คิดถึงวันที่ 31 มีนาคม 2527 จำเลยเป็นหนี้ของโจทก์ที่ 1อยู่ 119,131.90 บาท โจทก์ที่ 1 ทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระ คิดถึงวันฟ้องจำเลยเป็นหนี้โจทก์ 126,114.80 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยทบต้นถึงวันครบกำหนดทวงถามและดอกเบี้ยไม่ทบต้นถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 126,114.80 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี จากต้นเงิน 122,666.69 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การแก้คดีสำนวนแรกและแก้ไขคำฟ้องสำนวนหลังใจความทำนองเดียวกันว่า จำเลยได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและตกลงกู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นการกู้เงินเกิน 50 บาทไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงฟ้องบังคับไม่ได้ จำเลยไม่เคยนำสมุดเงินฝากเลขที่ 348 ไปประกัรการชำระหนี้ โจทก์ที่ 1 ที่ 2 นำเงินในบัญชีดังกล่าวไปชำระหนี้ โดยจำเลยมิได้ยินยอม การกระทำของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นการผิดสัญญาและทำละเมิดต่อจำเลย ทำให้จำเลยเสียหายไม่ได้ดอกเบี้ยจากเงินฝาก 92,300 บาท จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 100,658บาท จำเลยต้องถูกริบเงินมัดจำ 150,000 บาท เพราะเบิกเงินไปชำระค่าซื้อที่ดินไม่ได้ ขอให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันรับผิดชำระหนี้342,958 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยสำนวนแรกชดใช้เงินให้โจทก์ 45,948.41บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 31,643.11 บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอนอกจากนี้ให้ยกเสีย ให้ยกฟ้องโจทก์สำนวนหลัง
นางพีรรัชต์ ชัยกุล จำเลยอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
นางพีรรัชต์ ชัยกุล จำเลยฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยรับว่าจำเลยได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันตามหนังสือขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมายจ.3 ซึ่งระบุชัดว่าจำเลยทราบประเพณีการค้าของธนาคารและระเบียบการบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของธนาคารตามที่ได้รับไปแล้ว และจำเลยยินยอมผูกพันตามประเพณีและระเบียบการที่ได้กำหนดไว้ เช่นนี้การที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ได้รับระเบียบการบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.4 จึงรับฟังไม่ได้เพราะขัดกับเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งจำเลยลงชื่อเป็นผู้ขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันอย่างชัดแจ้ง ทั้งเอกสารหมาย จ.4 ก็ระบุว่า กรณีเบิกเงินเกินบัญชีนั้น ผู้ฝากต้องรับผิดชดใช้เงินส่วนที่เบิกเงินเกินบัญชีพร้อมดอกเบี้ยทบต้นรายเดือนตามประเพณีการค้าของธนาคารในอัตราขั้นสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ฎีกาจำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธินำเงินฝากประจำของจำเลยไปชำระหนี้เพราะไม่มีข้อตกลงกันเป็นหนังสือนั้นก็แตกต่างกับคำให้การของจำเลยที่ว่าจำเลยไม่เคยนำสมุดเงินฝากประจำไปประกันการชำระหนี้และโจทก์นำเงินในบัญชีดังกล่าวไปชำระหนี้โดยจำเลยไม่ยินยอม อย่างไรก็ตามฎีกาของจำเลยข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกันเพราะการนำเงินฝากประจำไปชำระหนี้นั้นไม่จำเป็นต้องมีข้อตกลงกันเป็นหนังสือดังที่จำเลยฎีกาแต่ประการใด นอกจากนี้ยังน่าเชื่อตามคำเบิกความของนางอุษณีย์ ภู่ภิรมย์ พยานโจทก์ว่า เมื่อจำเลยได้รับหนังสือเอกสารหมายป.จ.1 ให้มาตกลงกับโจทก์เรื่องหนี้สิน จำเลยก็มาติดต่อนำเงินในบัญชีเงินฝากประจำไปหักกลบลบหนี้ โจทก์จึงมีสิทธินำเงินฝากประจำของจำเลยไปชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีได้
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ว่าหนังสือขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.3 ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้เพราะต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 นั้น เห็นว่า เอกสารหมายจ.3 เป็นเพียงหนังสือขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันจึงเป็นเพียงคำเสนอฝ่ายเดียวของจำเลยในการขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ ไม่ใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร ดังนั้นเอกสารฉบับนี้จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
ที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไม่ได้ทำเป็นหนังสือจึงฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้นั้น เห็นว่า สัญญาที่จำเลยกล่าวอ้างนั้นคือสัญญาบัญชีเดินสะพัด ซึ่งไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีพยานหลักฐานเป็นหนังสือแต่ประการใด ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share