แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่พิพาทเป็นมรดกของบิดาโจทก์และจำเลย โจทก์จำเลยและทายาททุกคนได้ตกลงกันจะไม่ให้มีการแบ่งที่พิพาททั้งแปลงและวัตถุประสงค์ของโจทก์จำเลยกับทายาททุกคนที่จะไม่ให้มีการแบ่งที่พิพาทเพื่อจุดประสงค์ในการตั้งมูลนิธิหรือสมาคมของบิดามารดาก็มีลักษณะเป็นการถาวร โจทก์จึงขอแบ่งที่พิพาทไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 วรรคแรก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งห้าเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 3324 ด้วยการรับโอนมรดก นายวุฒิ ประสานพานิชและมีกรรมสิทธิ์คนละเท่า ๆ กัน โจทก์ทั้งสามประสงค์จะแบ่งแยกที่ดินเฉพาะส่วนของตนดังกล่าว แต่จำเลยทั้งห้าเพิกเฉย จึงขอให้บังคับจำเลยแบ่งแยกที่ดินดังกล่าว หากจำเลยไม่ปฎิบัติ ขอให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน
จำเลยทั้งห้าให้การว่า ทายาทนายวุฒิทุกคนได้ตกลงที่จะไม่ให้มีการแบ่งแยกที่พิพาทเป็นการถาวรตลอดไป โดยจะจัดไว้เพื่อจุดประสงค์ในการตั้งมูลนิธิหรือสมาคมของนายวุฒิและนางมุ้ยประสานพานิช และที่พิพาทส่วนหนึ่งก็เป็นฮวงซุ้ยของย่าโจทก์จำเลยและมีฮวงซุ้ยของญาติอีกหลายคน โจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่ง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งห้าไปดำเนินการแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ 3324 ให้แก่โจทก์ทั้งสามเฉพาะส่วนที่ไม่ใช่ที่สำหรับจัดตั้งฮวงซุ้ยโดยแบ่งตามส่วนที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิจะได้รับ หากแบ่งแยกไม่ได้ก็ให้นำที่ดินส่วนที่จะต้องแบ่งแยกออกขายทอดตลาด นำเงินมาแบ่งกันตามส่วนระหว่างโจทก์จำเลย
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์จำเลยและทายาททุกคนได้ตกลงกันจะไม่ให้มีการแบ่งที่พิพาททั้งแปลง และวัตถุประสงค์ของโจทก์จำเลยกับทายาททุกคนที่จะไม่ให้มีการแบ่งที่พิพาทเพื่อจุดประสงค์ในการตั้งมูลนิธิหรือสมาคมของนายวุฒิกับนางมุ้ยบิดามารดาก็มีลักษณะเป็นการถาวร โจทก์ทั้งสามจึงขอแบ่งที่พิพาทไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 วรรคแรก ส่วนที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า บันทึกข้อตกลงแบ่งมรดกข้อ 3.3 ได้ระงับไปเพราะมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้รับโอนที่พิพาทจากที่กำหนดให้ลูกชาย 6 คนเป็นผู้รับมาเป็นโจทก์ทั้งสามกับจำเลยทั้งห้าเป็นผู้รับแทน ถือว่าได้มีการตกลงกันใหม่แล้วโจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิขอแบ่งที่พิพาทได้นั้น เห็นว่า มิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน