คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1474/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญากับธนาคารผู้คัดค้านไว้ว่า จำเลยยอมมอบเงินฝากประจำของจำเลยพร้อมด้วยใบรับฝากไว้เป็นหลักประกันหนี้ของจำเลยต่อธนาคารถ้าจำเลยผิดสัญญายอมให้ธนาคารผู้คัดค้านนำเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวชำระหนี้ได้ทันที และตราบใดที่ธนาคารยังไม่ได้รับชำระหนี้ จำเลยจะไม่ถอนเงินฝาก และจะไม่กระทำการใดให้เป็นการเสื่อมสิทธิในหลักประกันหนังสือสัญญา ดังกล่าวเป็นการจำนำสิทธิตามตราสารใบรับฝากเงินประจำของจำเลย เพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่มีต่อธนาคารผู้คัดค้านตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา747,750 ธนาคารผู้คัดค้าน เป็นผู้รับจำนำสิทธิตามตราสารนั้นจึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันซึ่ง มีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช2483 มาตรา 95 และมาตรา 110 วรรคสาม
สิทธิซึ่งจำนำตามตราสารใบรับฝากเงินเป็นมูลหนี้ซึ่งต้องชำระเป็นเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 754 วรรคสอง จำเลยได้ตกลงกับธนาคารผู้คัดค้านให้หักเงินฝากของจำเลยชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องนำไปขายทอดตลาดเพื่อบังคับจำนำธนาคารผู้คัดค้านจึงมีสิทธิ หักเงินฝากประจำของจำเลยซึ่งจำนำต่อธนาคารไว้นั้นเอาชำระหนี้ธนาคารได้ในฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกัน
ธนาคารผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำเลยอยู่ก่อนพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิหักกลบลบหนี้กับจำเลยได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายมาตรา 102 โดยไม่จำต้องอาศัยความยินยอมของจำเลยและ สิทธิในการขอหักกลบลบหนี้ตามมาตรานี้ย่อมกระทำได้แม้จะเป็นเวลาหลังพิทักษ์ทรัพย์แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีสิทธิ ขอเพิกถอนการหักกลบลบหนี้ตามมาตรา 115 (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 2453/2527 ประชุมใหญ่)

ย่อยาว

คดีนี้ศาลได้พิพากษาให้จำเลยล้มละลายแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ฝากเงินไว้กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด เป็นเงินสี่ล้านบาทเศษ ต่อมาธนาคารได้ถอนเงินฝากประจำของจำเลยบางส่วนไปชำระหนี้แก่ธนาคาร ซึ่งเป็นการกระทำในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายโดยมุ่งหมายให้ธนาคารได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น จึงขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการชำระหนี้ดังกล่าว ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด คัดค้านว่า การถอนเงินฝากประจำของจำเลยที่ 1 มาหักชำระหนี้ได้กระทำโดยสุจริตตามสิทธิในหนังสือสัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ต่อธนาคาร โดยธนาคารถือว่าเงินฝากดังกล่าวเเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อธนาคาร ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า แม้จำเลยที่ 1 จะทำหนังสือสัญญาไว้แก่ธนาคารผู้คัดค้านก่อนถูกฟ้องล้มละลายถึง 8 เดือนเศษ แต่การปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นเพิ่งจะกระทำกันในระยะ 3 เดือนก่อนจำเลยที่ 1 ถูกฟ้อง จึงถือว่าจำเลยที่ 1ยินยอมให้ถอนเงินมาชำระหนี้ในระหว่างระยะเวลา 3 เดือน ก่อนมีการขอให้ล้มละลายโดยมุ่งหมายให้ธนาคารผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้เพิกถอนได้ พิพากษากลับให้ธนาคารผู้คัดค้านคืนเงินแก่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1
ธนาคารผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญากับธนาคารผู้คัดค้านไว้เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2519 ว่า เพื่อเป็นหลักประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อธนาคารผู้คัดค้าน จำเลยที่ 1 ยอมมอบเงินฝากตามบัญชีเลขที่ 1093/2518ดังกล่าวพร้อมด้วยหลักฐานการฝากเงิน คือใบรับฝากประจำจำนวนเงิน 4,950,000 บาทนั้นไว้เป็นหลักประกันต่อธนาคาร ถ้าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจนต้องเป็นหนี้หรือถูกฟ้องล้มละลายหรือถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ยอมให้ธนาคารผู้คัดค้านนำเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวชำระหนี้ได้ทันทีและตราบใดที่ธนาคารยังไม่ได้รับชำระหนี้ ตราบนั้นจำเลยที่ 1 จะไม่ถอนเงินฝากประจำของตนเป็นอันขาดและจะไม่ทำการใดให้เป็นการเสื่อมสิทธิในหลักประกันดังกล่าวหนังสือสัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำกับธนาคารผู้คัดค้านไว้ดังกล่าวแล้วนั้น เห็นได้ชัดว่าเป็นการจำนำสิทธิตามตราสารใบรับฝากเงินประจำของตนต่อธนาคารไว้เพื่อเป็นประกันหนี้ของตนที่มีต่อธนาคารตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 747, 750 ธนาคารผู้คัดค้านเป็นผู้รับจำนำสิทธิตามตราสารนั้นจึงถือได้ว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกันซึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันนั้นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 95 และมาตรา 110 วรรคสามอนึ่งโดยที่สิทธิซึ่งจำนำตามตราสารใบรับฝากเงินนี้เป็นมูลหนี้ซึ่งต้องชำระเป็นเงินทำนองเดียวกับที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 754 วรรคสองจำเลยที่ 1 จึงได้ตกลงกับธนาคารผู้คัดค้านให้หักเงินฝากของตนชำระหนี้ธนาคารได้เลยโดยไม่มีความจำเป็นต้องนำเงินนั้นไปขายทอดตลาดเพื่อบังคับจำนำตามมาตรา 764 วรรคสอง อีก ศาลฎีกาจึงเห็นว่า ธนาคารผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิหักเงินฝากประจำของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำนำต่อธนาคารไว้นั้นเอาชำระหนี้ธนาคารได้ในฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันโดยสมบูรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการที่ธนาคารใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องล้มละลายเกิดจากความยินยอมของลูกหนี้ที่มุ่งหมายให้เปรียบแก่ธนาคารผู้คัดค้านนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะธนาคารผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 อยู่ก่อนพิทักษ์ทรัพย์นั้นย่อมมีสิทธิหักกลบลบหนี้กับจำเลยได้ตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 อยู่แล้วโดยไม่จำต้องอาศัยความยินยอมของจำเลยแต่ประการใด และสิทธิของเจ้าหนี้ในการขอหักกลบลบหนี้ตามมาตรา 102 นี้ย่อมกระทำได้แม้จะเป็นเวลาหลักพิทักษ์ทรัพย์ก็ตาม ดังที่ศาลฎีกาเคยประชุมใหญ่วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้แล้วในคำพิพากษาฎีกาที่ 2453/2527 ระหว่าง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงใสไม้เหรียญทอง (จำเลย) ผู้ร้อง ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ผู้คัดค้านฉะนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีสิทธิของเพิกถอนการหักกลบลบหนี้รายนี้ของธนาคารตามมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ได้
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

Share