คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1472/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดร่วมในผลที่บุตรผู้เยาว์ของจำเลยกระทำละเมิดจำเลยไม่อุทธรณ์ในข้อนี้ ทั้งยังแก้อุทธรณ์ยอมรับว่าศาลชั้นต้นพิพากษาชอบแล้ว จำเลยฎีกาในข้อนี้ไม่ได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 432 วรรคท้าย เป็นบทบัญญัติสำหรับแยกความรับผิดชอบ ระหว่างผู้ละเมิดด้วยกัน มิใช่ว่ารับผิดต่อเจ้าหนี้ ซึ่งมีวรรค + บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วว่า ต้องร่วมกันรับผิดใช้ คำว่า “ร่วมกันใช้มีความหมายว่า แต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิง แต่เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากคนใดทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ ถึงกระนั้น ลูกหนี้ทั้งหมดก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระสิ้นเชิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 291
การทำให้ทรัพย์เขาเสียหายโดยผิดกฎหมายเป็นละเมิด เมื่อร่วมกันกระทำ ก็เป็นการร่วมกันทำละเมิด และต้องร่วมกันรับผิด กฎหมายมุ่งหมายถึงการกระทำ มิใช่ดูผลของความเสียหายว่า แยกกันได้หรือไม่ แม้จะไม่รู้ตัวว่าคนไหนก่อให้เกิดเสียหาย แต่ถ้าเป็นพวกที่ทำละเมิดร่วมกันแล้ว ก็ต้องรับผิดร่วมกันทั้งหมดตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์มาตรา 432

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ถึง ที่ ๔ ได้ร่วมกันใช้มีดและขวานฟันทำลายต้นทุเรียนของโจทก์ ๗๑ ต้น ราคา ๕๘,๘๐๐ บาท ศาลจังหวัดนนทบุรี พิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง ๔ ฐานทำให้เสียทรัพย์ จำเลยที่ ๕ เป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลยที่ ๔ ผู้เยาว์ ขอศาลพิพากษาให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหาย ๕๘,๘๐๐ บาท กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๕ ให้การปฏิเสธความรับผิดและว่า แม้ศาลพิพากษาว่าจำเลยกระทำผิด ฐานทำให้เสียทรัพย์ ความผิดขอแบ่งแยกกันได้ว่าจำเลยใดได้ทำให้โจทก์เสียหาย มากน้อยเพียงใด โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยทั้งหมด ร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหาย
ศาลชั้นต้นพิพากาษาว่า ค่าเสียหายทั้งสิ้น ๒๗,๒๐๖ บาท ให้แยกความรับผิดกัน คือให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ๒๖,๓๖๘ บาท โดยรับผิดคนละ ๘,๘๙๙.๓๓ บาท จำเลยที่ ๔-๕ ร่วมกันรับผิด ๕๖๔ บาท พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์อุทธรณ์ ขอให้พิพากษาให้จำเลยรับผิดใช้ค่าเสียหายคนละเท่า ๆ กัน หรือร่วมกันรับผิดค่าเสียหายทั้งหมด
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ ๔-๕ ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ๒,๘๐๐.๕๐ บาท การชำระหนี้ตามนี้ ใช้เป็นประโยชน์แต่จำเลยทุกคนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๙๒ นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๕ ฎีกาว่า ไม่ควรรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๔ หากจะต้องรับผิดร่วมก็ขอให้แยกความรับผิดของจำเลยที่ ๔ เฉพาะเท่าที่จำเลยที่ ๔ กระทำ คือ ตัดฟันทุเรียน ๒ ต้น ๕๖๔ บาท
ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาเรื่องต้องรับผิดร่วมกับบุตรผู้เยาว์หรือไม่ เป็นอันถึงที่สุดแล้ว เพราะจำเลยที่ ๕ มิได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ ทั้งยังแก้อุทธรณ์ยอมรับว่าศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๕ รับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๔ ในจำนวนเงิน ๕๖๔ บาท ชอบแล้วอีกด้วย คงมีปัญหาว่า จำเลยที่ ๕ จะขอให้แยกความรับผิดของจำเลยที่ ๔ ได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๓๖ วรรคแรก บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วว่า ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกับทำละเมิด ท่านว่า บุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น จำเลยที่ ๕ จะขอให้แยกกันรับผิดไม่ได้ ส่วนวรรคท้ายของมาตรานี้ที่ว่า “ในระหว่างบุคคลทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่โดยพฤติการณ์ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น นั้น เป็นบทบัญญัติสำหรับแยกความรับผิดระหว่างผู้ละเมิดด้วยกัน มิใช่รับผิดต่อเจ้าหนี้ ซึ่งมีวรรค ๑ บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วว่า ต้องร่วมกันรับผิดใช้ คำว่า ร่วมกันใช้ มีความหมายว่า แต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิง แต่เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้คนใดทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ ถึงกระนั้นลูกหนี้ ทั้งหมดก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระหนี้สิ้นเชิง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๙๑ จึงไม่มีทางแยกความรับผิดต่อเจ้าหนี้เป็นส่วนของตนได้ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ไม่ใช่ร่วมกันใช้ดังทีวรรคต้นบังคับไว้
ข้อที่จำเลยฎีกาว่า อาจแบ่งแยกรู้ได้ว่าจำเลยคนใดทำเสียหายมากน้อยเท่าใด ซึ่งมิใช่กระทำร่วมกัน ควรให้จำเลยที่ ๔ รับผิดเพียงเท่าที่ทำละเมิดนั้น ข้อนี้จำเลยที่ ๕ รับ ข้อเท็จจริงแล้วว่า จำเลยที่ ๑-๔ ร่วมกันกระทำความผิด การทำให้ทรัพย์เขาเสียหายโดยผิดกฎหมายเป็นละเมิด เมื่อร่วมกันกระทำก็เป็นการร่วมกันทำละเมิดและต้องร่วมกันรับผิด กฎหมายมุ่งหมายถึงการกระทำ มิใช่ดูผลของความเสียหายว่าแยกกันหรือไม่ได้ มิฉะนั้นแล้วคนที่ร่วมกระทำผิดด้วยกัน แต่ทำหน้าที่เป็นคนเฝ้าต้นทางไม่ได้ฟันต้นทุเรียนเลย หรือผู้ที่ช่วยเหลือยุยงส่งเสริม ไม่ได้ฟันต้นทุเรียนเช่นกัน ก็จะไม่ต้องใช้ค่าเสียหายเลย จะเห็นได้ว่าขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘+๒ อย่างชัดแจ้ง ซึ่งมาตรานี้ยังบัญญัติไว้ว่า แม้จะไม่รู้ตัวว่าคนไหนก่อให้เกิดเสียหาย ถ้าเป็นพวกที่ทำละเมิดร่วมกันแล้ว ก็ต้องรับผิดร่วมกันทั้งหมด พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ยกฎีกาจำเลยที่ ๕

Share