แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้ร้องได้ปฏิเสธหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังมิได้แจ้งยืนยันหนี้จำนวนนั้นมายังผู้ร้อง ผู้ร้องจึงยังไม่มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาล เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาข้ามขั้นตอนของกฎหมายซึ่งต้องการให้หนี้สินดังกล่าวได้รับการสอบสวนในชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้เป็นการแน่นอนเสียชั้นหนึ่งก่อนที่จะนำคดีมาสู่ศาล
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2529 ผู้ร้องได้รับหนังสือจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกร้องให้ชำระหนี้จำนวน 255,640 บาท ผู้ร้องได้ปฏิเสธหนี้ไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2529 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ทำการสอบสวนผู้ร้องแล้ว ไม่มีคำสั่งหรือมีหนังสือแจ้งยืนยันหนี้ให้ผู้ร้องทราบ ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2530ผู้ร้องได้รับหนังสือจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกร้องให้ผู้ร้องชำระหนี้จำนวน 1,564,698.67 บาท ผู้ร้องเห็นว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ใช้สิทธิตามกฎหมายซ้ำซ้อน กล่าวคือ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกร้องให้ผู้ร้องชำระหนี้ในมูลหนี้เดียวกันขอให้จำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องปฏิเสธหนี้ดังกล่าวแล้ว และอยู่ในระหว่างสอบสวน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังไม่ได้แจ้งยืนยันหนี้ดังกล่าวไปยังผู้ร้องตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 119 วรรคสอง ขอให้ยกคำร้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามที่ผู้ร้องฎีกาว่า อำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 119 วรรคสอง นั้น ให้กระทำได้เพียงสองประการคือ เมื่อทำการสอบสวนแล้ว หากเห็นว่าผู้ร้องมิได้เป็นหนี้ก็ให้จำหน่ายชื่อออกจากบัญชีลูกหนี้แล้วแจ้งให้ผู้ร้องทราบ หรือถ้าเห็นว่าผู้ร้องเป็นหนี้อยู่จำนวนเท่าใดก็ให้แจ้งยืนยันหนี้ไป มิใช่เป็นการแจ้งยอดหนี้มาซ้ำซากสองครั้ง และแต่ละครั้งมีจำนวนแตกต่างกันดังที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติในคดีนี้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การปฏิบัติของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวจะชอบด้วยบทบัญญัติตามมาตรา 119 ดังที่ผู้ร้องฎีกาโต้แย้งหรือไม่นั้น ยังหาได้เป็นประเด็นที่ศาลจะรับไว้วินิจฉัยในชั้นนี้ไม่ เพราะการที่ผู้ร้องได้ปฏิเสธหนี้ไปทั้งสองครั้ง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังมิได้แจ้งยืนยันหนี้มา ผู้ร้องจึงหามีสิทธิที่จะด่วนมายื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาข้ามขั้นตอนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่ เพราะเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้หนี้สินดังกล่าวได้รับการสอบสวนในชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้เป็นการแน่นอนเสียชั้นหนึ่งก่อนที่จะนำคดีมาสู่ศาล ดังนั้น ตราบใดที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังมิได้แจ้งยืนยันหนี้จำนวนดังกล่าวมายังผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องก็ยังหามีสิทธิที่จะมายื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลไม่”
พิพากษายืน