คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1467/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บทบัญญัติของพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 112 ทวิ วรรคสาม ไม่ได้บัญญัติว่าเมื่อมีการอุทธรณ์การประเมิน อธิบดีหรือ ผู้ที่อธิบดีมอบหมายมีอำนาจเพียงยกอุทธรณ์หรือเพิกถอน การประเมินเท่านั้น และไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดห้ามมิให้ พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการประเมินอากรใหม่ ตามบทบัญญัติ มาตรา 10 วรรคแรก และวรรคสาม แสดงว่า ภายในอายุความหากพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบว่าจำเลยสำแดงรายการสินค้า ไม่ถูกต้องก็มีสิทธิประเมินราคาสินค้าตามราคาที่แท้จริง ในท้องตลาดได้ การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยไม่ได้อุทธรณ์การประเมินครั้งหลัง ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน การประเมินจึงเป็นที่สุด ส่วนภาษีการค้าและภาษีเทศบาลที่จำเลยมิได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน การประเมินจึงถึงที่สุด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นนิติบุคคลประเภทกรมในสังกัดกระทรวงการคลัง โจทก์ที่ 1 มีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง กับมีอำนาจเรียกเก็บภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลแทนโจทก์ที่ 2ตามที่ได้รับมอบหมาย โจทก์ที่ 2 มีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินให้จำเลยทราบเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2539 แต่จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินดังกล่าว และไม่ชำระค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์ขอให้จำเลยชำระเงิน 15,443.96 บาท พร้อมเงินเพิ่มอากรขาเข้าอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากค่าอากรขาเข้า5,336.10 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยนำเข้าสินค้าประเภทกระดาษแข็งใช้ทำพื้นรองเท้าจำนวน 6,000 ชิ้น จากไต้หวันซึ่งมีแหล่งกำเนิดในไต้หวัน เข้ามาในราชอาณาจักรโดยทางท่าเรือกรุงเทพต่อมาเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 สำแดงราคาสินค้าดังกล่าวเป็นเงินชิ้นละ2.05 ดอลลาร์สหรัฐ คำนวณเป็นเงินไทย รวมเป็นเงิน 313,079 บาทค่าอากรขาเข้า 109,578 บาท ภาษีการค้า 38,769 บาท และภาษีบำรุงเทศบาล 3,876 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1สั่งให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรตามที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าและให้วางเงินเพิ่มเติมเป็นประกันจำนวน 70,000 บาทตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 5 หลังจากจำเลยชำระค่าภาษีอากรและวางประกันค่าอากรแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ชักตัวอย่างสินค้าไว้ตรวจสอบและตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยรับไปวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2532ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ตรวจสอบพบว่ามีผู้นำเข้ารายอื่นนำเข้าสินค้าประเภทและชนิดเดียวกันกับมีแหล่งกำเนิดเดียวกันเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2531 แต่สำแดงราคาไว้ชิ้นละ 2.92 ดอลลาร์สหรัฐ ตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 28 เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1 จึงประเมินราคาสินค้าที่จำเลยนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็นราคาชิ้นละ 2.92 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นเหตุให้ค่าอากรขาเข้าขาดไป 46,424.07 บาท ภาษีการค้าขาดไป 16,425.52 บาทและภาษีบำรุงเทศบาลขาดไป 1,642.52 บาท โจทก์ที่ 1 จึงนำเงินประกันที่วางไว้ 70,000 บาท มาหักชำระค่าภาษีอากรตามจำนวนที่ประเมินได้และคืนเงินส่วนที่เหลือ 5,508.20 บาท ให้แก่จำเลย ตามสำเนาใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 6 ต่อมาเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2532 จำเลยอุทธรณ์การประเมินราคาสินค้าต่อโจทก์ที่ 1 ตามแบบคำขออุทธรณ์ราคาเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 48 พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1กองวิเคราะห์ราคาพบว่าเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2532มีผู้นำเข้ารายอื่นนำสินค้าประเภทและชนิดเดียวกันกับมีแหล่งกำเนิดเดียวกันกับสินค้าที่จำเลยนำเข้า แต่สำแดงราคาไว้ชิ้นละ3.02 ดอลลาร์สหรัฐ ตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 52 พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1จึงประเมินราคาสินค้าใหม่คำนวณเป็นเงินไทยรวมเป็นเงิน460,965.20 บาท ค่าอากรขาเข้า 161,337.82 บาท ภาษีการค้า58,247.56 บาท และภาษีบำรุงเทศบาล 5,824.76 บาท เมื่อนำภาษีอากรที่จำเลยชำระและเงินประกันที่หักไว้ก่อนมาหักออกแล้วจำเลยต้องชำระภาษีอากรเพิ่มดังนี้ ค่าอากรขาเข้า 5,336.10 บาทภาษีการค้า 1,926.48 บาท และภาษีบำรุงเทศบาล 192.65 บาทพนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมินไปถึงจำเลยเมื่อวันที่ 5พฤศจิกายน 2539 ตามหนังสือแจ้งการประเมินและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 77 และ 78 แต่จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินดังกล่าวและไม่นำเงินค่าภาษีอากรมาชำระให้แก่โจทก์
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ทั้งสองว่าในกรณีที่มีการวางเงินประกันค่าอากร เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินอากรอันจะพึงเสียและแจ้งให้จำเลยผู้นำเข้าทราบการที่จำเลยผู้นำเข้าอุทธรณ์การประเมินอากรตามมาตรา 112 ทวิ วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ระหว่างที่พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ตรวจพบว่าราคาสินค้าที่จำเลยแสดงไว้ต่ำกว่าราคาสินค้าอันแท้จริงในท้องตลาด พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1จะประเมินราคาสินค้าใหม่ให้สูงกว่าการประเมินราคาเดิมแล้วประเมินอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลใหม่ได้หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 112 ทวิ วรรคสาม บัญญัติว่า “ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกอาจอุทธรณ์การประเมินเงินอากรตามวรรคหนึ่งต่ออธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินโดยปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด” จะเห็นได้ว่า บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติว่า เมื่อมีการอุทธรณ์การประเมิน อธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายมีอำนาจเพียงยกอุทธรณ์หรือเพิกถอนการประเมินเท่านั้นและไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการประเมินอากรใหม่ แต่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคแรก บัญญัติว่า”บรรดาค่าภาษีนั้น ให้เก็บตามพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร” การเสียภาษีให้เสียแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในเวลาที่ออกใบขนสินค้าให้และมาตรา 10 วรรคสาม บัญญัติว่า”เว้นแต่ในกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรสิทธิของกรมศุลกากรที่จะเรียกเก็บเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนัก หรือราคาแห่งของใด ๆหรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใด ๆ นั้น ให้มีอายุความ 10 ปีแต่ในเหตุที่ได้คำนวณเงินอากรผิดให้มีอายุความ 2 ปี ทั้งนี้นับจากวันที่นำของเข้าหรือส่งออก” แสดงว่าภายในอายุความพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 หากตรวจพบว่าจำเลยสำแดงราคาสินค้าไม่ถูกต้อง ก็มีสิทธิประเมินราคาสินค้าตามราคาที่แท้จริงในท้องตลาดได้ ดังนั้น การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายเมื่อจำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมินครั้งหลังภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินการประเมินจึงเป็นที่สุด ส่วนภาษีการค้าและภาษีเทศบาลที่จำเลยมิได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน การประเมินจึงถึงที่สุด ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์โจทก์ทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 15,443.96 บาทแก่โจทก์ทั้งสองกับให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากต้นเงินอากรขาเข้าจำนวน 5,336.10 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

Share