คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14528/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยนำใบถอนเงินซึ่งเป็นเอกสารสิทธิปลอมรวม 17 ฉบับ ไปแสดงขอถอนเงินต่อพนักงานธนาคาร ก. สาขาอุทัยธานี ในใบถอนเงินดังกล่าวระบุวันที่จำเลยนำไปใช้ถอนเงินเป็นวันที่ 14 และ 18 มกราคม 2545 วันที่ 23 เมษายน 2545 วันที่ 9, 16 และ 23 พฤษภาคม 2545 โดยนำใบถอนเงินฉบับลงวันที่ เดือน ปีเดียวกันหลายฉบับไปยื่นต่อธนาคารพร้อมกัน แยกเป็น 6 วัน จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมรวม 6 กรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามมาตรา 91 จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 17 กระทง เป็นจำคุก 102 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามมาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 75 เดือน 15 วัน ยกฟ้องข้อหาปลอมเอกสารสิทธิ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 6 กระทง เป็นจำคุก 36 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามมาตรา 78 คงจำคุก 24 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยกระทำความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม 17 กรรม ซึ่งการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า จำเลยเป็นลูกจ้างชั่วคราวของมูลนิธิสงเคราะห์เด็กยากจน ซี.ซี.เอฟ ในประเทศไทย โดยเป็นผู้ประสานงานระดับจังหวัด เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2545 มูลนิธิสงเคราะห์เด็กยากจน ซี. ซี. เอฟ ในประเทศไทยมอบหมายให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ บี เอส คอนซัลแตนท์ ตรวจสอบบัญชีของโครงการพัฒนาเด็กของมูลนิธิสงเคราะห์เด็กยากจน ซี. ซี. เอฟ ในประเทศไทยในจังหวัดอุทัยธานี จากการตรวจสอบพบว่ามีการถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาอุทัยธานี ตามฟ้องในวันที่ 14 และ 18 มกราคม 2545 วันที่ 23 เมษายน 2545 วันที่ 9, 16 และ 23 พฤษภาคม 2545 และในใบถอนเงินที่มีการเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวปรากฏว่าลายมือชื่อของนายวีรพงศ์ นางสาวเบญจวรรณ นายเสถียร นายกฤช นายขจร นายชูชาติ นายไพโรจน์ นายธานี และนายสวิง ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อเบิกถอนเงิน ในช่องลายมือชื่อเจ้าของบัญชีและในช่องลายมือชื่อเจ้าของบัญชีผู้มอบฉันทะเป็นลายมือชื่อปลอม ส่วนลายมือชื่อในช่องผู้รับมอบฉันทะและผู้รับเงินในใบถอนเงิน ดังกล่าวเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของจำเลย จำเลยกระทำความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมด้วยการนำใบถอนเงินปลอมและใบมอบฉันทะปลอมข้างต้นไปใช้ถอนเงินต่อธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาอุทัยธานี ตามที่กล่าวอ้างมาตอนต้นแยกเป็น 6 ครั้ง โดยรวมใบถอนเงินฉบับที่ลงวันที่ เดือน ปีเดียวกัน นำไปยื่นต่อธนาคารพร้อมกัน สำหรับความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คู่ความไม่อุทธรณ์ ความผิดฐานนี้จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เห็นว่า จำเลยนำใบถอนเงินซึ่งเป็นเอกสารสิทธิปลอมไปแสดงขอถอนเงินต่อพนักงานธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาอุทัยธานี ในใบถอนเงินดังกล่าวระบุวันที่จำเลยนำไปใช้ถอนเงิน เป็นวันที่ 14 และ 18 มกราคม 2545 วันที่ 23 เมษายน 2545 วันที่ 9, 16 และ 23 พฤษภาคม 2545 โดยนำใบถอนเงินฉบับลงวันที่ เดือน ปีเดียวกันหลายฉบับไปยื่นต่อธนาคารพร้อมกันแยกเป็น 6 วัน ดังกล่าวข้างต้น จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมรวม 6 กรรม ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share