แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และ ส.ร่วมกัน และเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งกัน เมื่อโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกส่วนของตนตลอดมา โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ตามมาตรา 1748 วรรคหนึ่ง แม้จะล่วงพ้นอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 1754 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ตามคำฟ้องและคำให้การจำเลยไม่มีประเด็นเรื่องสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่จำเลยเพิ่งยื่นสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลประกอบคำเบิกความพยานจำเลย จึงมิใช่กรณีคู่ความตกลงหรือประนีประนอมยอมความและให้ศาลพิพากษาตามยอมตาม ป.วิ.พ.มาตรา 138 ที่ศาลจะพิพากษาบังคับให้ได้ การที่ศาลชั้นต้นไม่หยิบยกปัญหานี้ขึ้นพิจารณาชอบแล้ว ดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยเกี่ยวกับสัญญาประนีประนอมยอมความจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นจึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหานี้ชอบแล้วเช่นกัน และจำเลยไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหานี้ต่อมา เพราะมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย