คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1452/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยอ้างว่าจำเลยติดธุระสำคัญ ไม่อาจมาศาลได้เพราะต้องเดินทางไปต่างจังหวัดหลายวัน แต่ไม่ปรากฏว่าทนายจำเลยติดธุระอะไร สำคัญเพียงใดจนไม่อาจมาศาลได้และจำเป็นอย่างไรต้องเดินทางไปต่างจังหวัดหลายวัน รวมทั้งไปจังหวัดไหน ห่างไกลศาลเท่าไร เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีเหตุผลสมควรจะสั่งให้เลื่อนคดี ถึงวันนัดพิจารณาจำเลยก็ไม่มาศาลดังนี้เห็นได้ว่าจำเลยประวิงคดี ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและให้สืบพยานโจทก์ไปในนัดนั้นได้
การดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลจะมีคำสั่งว่าคู่ความฝ่ายใดขาดนัดพิจารณา ย่อมจะมีได้เพียงกรณีเดียวดังที่บัญญัติไว้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 วรรคสอง เมื่อปรากฏว่าในวันสืบพยานฝ่ายจำเลยไม่มาศาล แต่ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีไว้ก่อนวันสืบพยานแล้ว จึงถือได้ว่าคู่ความซึ่งเป็นฝ่ายจำเลยได้ร้องขอเลื่อนคดี หรือได้แจ้งเหตุขัดข้องที่มาศาลไม่ได้ให้ศาลทราบก่อนลงมือสืบพยานแล้ว ไม่ใช่กรณีที่จำเลยไม่มาศาลและไม่แจ้งเหตุขัดข้องอันจะถือว่าเป็นการขาดนัดพิจารณา การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดี และมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาโดยสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และพิพากษาให้จำเลยรับผิด เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบศาลฎีกามีอำนาจยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณา โดยสืบพยานจำเลยแล้วพิพากษาใหม่ได้.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญายืมค้ำประกันและจำนองให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นและจำเลยทั้งสองไม่เคยได้รับคำบอกกล่าวบังคับจำนองขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยทั้งสองขาดนัดพิจารณาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 82,956.29 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2526 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่สามารถชำระหนี้ดังกล่าวได้ ก็ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์ หากเงินจากการขายทอดตลาดได้ไม่พอชำระหนี้ ก็ให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2ชำระหนี้จนครบ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ 2,500 บาทแทนโจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนิกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดีค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ วันที่ 27 ธันวาคม 2526 จำเลยยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 13ธันวาคม 2526 ขอเลื่อนคดีอ้างว่าทนายจำเลยติดธุระสำคัญไม่อาจมาศาลได้ เพราะต้องเดินทางไปต่างจังหวัดหลายวัน ศาลชั้นต้นสั่งว่าสำเนาให้โจทก์ จะสั่งคำร้องในวันนัดพิจารณา เมื่อถึงวันนัดพิจารณาฝ่ายโจทก์มาศาล ฝ่ายจำเลยทั้งสองไม่มาศาลเลย โจทก์แถลงว่าจำเลยที่ 1ประวิงคดี ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยที่ 1 ประวิงคดีจึงไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 เลื่อนคดี เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มาศาล จึงถือว่าจำเลยที่ 1ขาดนัดพิจารณา ส่วนจำเลยที่ 2 ก็ไม่มาศาล ก็ถือว่าจำเลยที่ 2 ขาดนัดพิจารณาด้วย สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดตามฟ้อง ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าคำร้องของจำเลยทั้งสองซึ่งขอเลื่อนคดีมีเหตุสมควรหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยทั้งสองอ้างว่าทนายจำเลยติดธุระสำคัญ ไม่อาจมาศาลได้ เพราะต้องเดินทางไปต่างจังหวัดหลายวันนั้น ไม่ปรากฏว่าทนายจำเลยติดธุระอะไรสำคัญเพียงใดจนไม่อาจมาศาลได้ และจำเป็นอย่างไรต้องเดินทางไปต่างจังหวัดหลายวัน รวมทั้งไปจังหวัดไหน ห่างไกลศาลอย่างไร เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีเหตุผลสมควรที่จะสั่งให้เลื่อนคดี ถึงวันนัดตัวจำเลยทั้งสองก็ไม่มาศาล ดังนั้นเห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองประวิงคดีที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและสืบพยานโจทก์ในนัดนี้จึงชอบแล้ว ปัญหาต่อไปมีว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยทั้งสองขาดนัดพิจารณา และได้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยขาดนัด จะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบหรือไม่นั้น เห็นว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลจะมีคำสั่งว่าคู่ความฝ่ายใดขาดนัดพิจารณา ย่อมจะมีได้ก็เพียงกรณีเดียวดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันสืบพยาน และมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาลเสียก่อนลงมือสืบพยานให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณา” กรณีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีก่อนวันสืบพยานโจทก์ซึ่งในกรณีดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า ย่อมจะถือได้ว่าคู่ความซึ่งเป็นฝ่ายจำเลยได้ร้องขอเลื่อนคดี หรือได้แจ้งเหตุขัดข้องที่มาศาลไม่ได้ให้ศาลทราบก่อนลงมือสืบพยานแล้วไม่ใช่กรณีที่ไม่มาศาลและไม่แจ้งเหตุขัดข้องอันจะถือได้ว่าเป็นการขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 วรรคสอง ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาเริ่มแต่การสืบพยานจำเลยเป็นต้นไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยสืบพยานจำเลยทั้งสองแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่”.

Share