แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 บัญญัติให้ผู้มีอาวุธปืน ฯลฯ นำไปขอรับอนุญาตหรือนำไปมอบให้นายทะเบียนท้องที่ได้ภายใน 90 วัน โดยผู้นั้นไม่ต้องรับโทษซึ่งเมื่อคดียังอยู่ในระหว่างเวลา 90 วัน ก็ต้องถือว่าในระหว่างระยะเวลานี้กฎหมายได้ยกเว้นโทษให้แก่จำเลยแล้ว ศาลจึงต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีและทำการค้าอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนสำหรับใช้แต่ในการสงครามโดยมิได้รับอนุญาตฯ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ฯลฯ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีกระสุนปืนและอาวุธปืน มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ
โจทก์จำเลยต่างอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า บัดนี้ ได้มีพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 มาตรา 5, 6 และ 7 บัญญัติให้ผู้มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิดไม่ว่าชนิดหรือขนาดใด ๆ ซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายหรือที่ไม่อาจอนุญาตได้ตามกฎหมายหรือที่สำหรับใช้เฉพาะแต่ในการสงคราม นำไปขอรับอนุญาตหรือนำไปมอบให้นายทะเบียนท้องที่ได้ภายใน 90 วัน โดยผู้นั้นไม่ต้องรับโทษซึ่งขณะนี้ก็ยังอยู่ในระหว่างเวลา 90 วัน จึงต้องถือว่าในระหว่างระยะเวลานี้ กฎหมายได้ยกเว้นโทษให้แก่ผู้มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน โดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 889/2503
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์