แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นแล้วลงมติให้จำเลยที่ 1 และโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการของบริษัท และแต่งตั้งจำเลยที่ 2 และ ส. เป็นกรรมการใหม่ และแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัท แล้วจำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกลักเอาหุ้นของโจทก์เพื่อจะโอนให้จำเลยที่ 3 หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 นำมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นที่มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการและผู้ถือหุ้นแล้วไปจดทะเบียนการเปลี่ยนแปลงกับนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวเพื่อให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขกรรมการ จำนวนกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัท รวมถึงจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงโอนหุ้นของโจทก์ไปให้จำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา 90 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นความผิด 2 กรรม ให้ลงโทษทุกกรรมตาม ป.อ. มาตรา 91 นั้นไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 334, 335 (7), 352, 353, 354, 357 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 และนับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีหมายเลขแดงที่ 2887/2550 ของศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 หลบหนีไม่มาศาลตามหมายเรียก ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยที่ 1 และสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 1 ชั่วคราว
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอถอนคำให้การเดิม จำเลยที่ 2 ให้การใหม่เป็นรับสารภาพข้อหาร่วมกันลักทรัพย์และร่วมกันกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ ตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การใหม่เป็นรับสารภาพข้อหารับของโจร
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (1) วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันลักทรัพย์ จำคุก 3 ปี ฐานร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย เปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือปลอม บัญชี เอกสาร หรือหลักประกันของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 7 ปี จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก (เดิม) จำคุก 3 ปี จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกให้นั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกลักเอาหุ้นของโจทก์รวม 22,000 หุ้น ไปโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 ช่วยรับไว้ซึ่งหุ้นของโจทก์ดังกล่าวโดยรู้อยู่แล้วว่าได้มาจากการลักทรัพย์ ทำให้โจทก์ต้องสูญเสียกรรมสิทธิ์ในหุ้นจำนวนดังกล่าวไป รวมมูลค่าสูงถึง 2,200,000 บาท และหลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นดังกล่าวไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการไม่เคารพยำเกรงกฎหมายบ้านเมือง กระทำโดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ไม่คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดแก่โจทก์ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างในฎีกาทำนองว่า การดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นดังกล่าวเป็นการดำเนินการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาทั้งสิ้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำไปตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 หรือโจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากฝ่ายจำเลยแล้ว โดยโจทก์มิได้รับความเสียหายเดือดร้อน หรือจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน และมีภาระต้องดูแลบุคคลในครอบครัว หรือมีเหตุอื่นตามที่อ้างในฎีกา ก็ไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่เป็นเหตุให้เปลี่ยนแปลงผลแห่งคำพิพากษา แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ฝ่ายจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โดยเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 และวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561 จำเลยที่ 2 และที่ 3 วางเงินชดใช้ค่าเสียหาย 1,000,000 บาท และ 200,000 บาท ตามลำดับ และโจทก์รับเงินดังกล่าวแล้ว วันที่ 12 ธันวาคม 2561 จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหาย 1,500,000 บาท แก่โจทก์แล้ว และโจทก์โอนหุ้นทั้งหมดของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 3 เท่ากับโจทก์ได้รับชดใช้เงินค่าหุ้นทั้งหมดจำนวน 2,200,000 บาท กับค่าเสียหายแล้ว 500,000 บาท ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 พยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ จึงเห็นควรลงโทษสถานเบา
อนึ่ง การที่จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นลงมติให้จำเลยที่ 1 และโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการของบริษัท แล้วแต่งตั้งจำเลยที่ 2 และนางสาวเสาวนีย์เป็นกรรมการใหม่ และแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัท แล้วจำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกลักเอาหุ้นของโจทก์เพื่อจะโอนให้จำเลยที่ 3 หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 นำมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นที่มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการและผู้ถือหุ้นแล้วไปจดทะเบียนการเปลี่ยนแปลงกับนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวเพื่อให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขกรรมการ จำนวนกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัท รวมถึงจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงโอนหุ้นของโจทก์ไปให้จำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นความผิด 2 กรรม ให้ลงโทษทุกกรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 นั้นไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย เปลี่ยนแปลง ตัด ทอน หรือปลอมบัญชี เอกสาร หรือหลักประกันของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี และให้ลงโทษจำเลยที่ 3 จำคุก 1 ปี 6 เดือน เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี และจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์