แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ง. มารดาโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อพ.ศ. 2493 จึงได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2456 มาตรรา 3 (3)ต่อมา ง.ถูกถอนสัญชาติไทยโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 14 ธันวาคม 2515 แต่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยขณะเกิด ง.มารดายังคงมีสัญชาติไทยอยู่จึงได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 7 (1) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา 4 ประกอบมาตรา 10 ที่บัญญัติให้บทบัญญัติมาตรา7 (1) ที่แก้ไขเพิ่มเติมนี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่ พ.ร.บ.สัญชาติ(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ใช้บังคับด้วย
โจทก์ที่ 4 และที่ 5 แม้เกิดในราชอาณาจักรไทยภายหลัง ง.มารดาถูกเพิกถอนสัญชาติไทยกลายเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ข้อ 1 แล้วก็ตาม แต่ ง.เกิดในราชอาณาจักรไทยมิใช่ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยตามความหมายแห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 กรณีของโจทก์ที่ 4 และที่ 5 ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะไม่ได้รับสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 2 จึงได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508มาตรา 7 (3) เดิมก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมและไม่เสียสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 7 ทวิ ที่แก้ไขใหม่เพราะโจทก์ที่ 4 และที่ 5 มีบิดาซี่งมิได้มีการสมรสกับมารดาเป็นคนสัญชาติไทย จึงไม่เข้ากรณีที่ต้องเสียสัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ โจทก์ที่ 4 และที่ 5 ยังคงมีสัญชาติไทย
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลเกี่ยวกับกิจการญวนอพยพ และเจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยได้ขอสูติบัตรของโจทก์คืน โดยอ้างว่าเป็นคนญวนอพยพและได้จัดทำทะเบียนบ้านญวนอพยพโดยเพิ่มเติมชื่อโจทก์ลงในทะเบียนบ้านญวนอพยพ ทั้ง ๆ ที่โจทก์เป็นผู้มีสัญชาติไทย และสูติบัตรกับสำเนาทะเบียนบ้านก็ระบุสัญชาติของโจทก์ว่าสัญชาติไทย จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว