แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีที่ความผิดของจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อคดี 620 สำนวนที่ศาลสั่งรวมการพิจารณาและกำลังพิจารณาอยู่ เป็นความผิดเกี่ยวพันกัน และความผิดทุกสำนวนปรากฏต่อพนักงานสอบสวนก่อนโจทก์ฟ้องคดีแรกแล้ว เห็นได้ว่าโจทก์อาจฟ้องจำเลยทุกกระทงความผิดเป็นสำนวนเดียวก็ได้ แต่ถ้าโจทก์แยกฟ้องจำเลยแต่ละกระทงความผิดเป็นรายสำนวนไป และศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีทุกสำนวนรวมกันศาลก็จะลงโทษจำคุกจำเลยได้ไม่เกินกำหนดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ที่แก้ไขใหม่ ดังนั้น แม้โจทก์จะแยกฟ้องคดี 620 สำนวนเป็นรายสำนวนซึ่งศาลสั่งรวมการพิจารณาแล้ว โดยมิได้สั่งรวมการพิจารณากับคดีที่ขอให้นับโทษต่อ เมื่อศาลลงโทษจำเลยทุกกรรมโดยจำคุกจำเลยเต็มตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 91 แล้ว ศาลจะนับโทษจำเลยต่ออีกไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งหกร้อยยี่สิบสำนวนฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๘๖, ๙๑,๑๕๗, ๑๖๑, ๑๖๒, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๖, ๒๖๘ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๑๓ ; (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๒๖ มาตรา ๔ ริบของกลาง นับโทษจำเลยทั้งสี่ต่อจากโทษในคดีอาญาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การรับสารภาพ กับรับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
จำเลยที่ ๔ ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ ๔ และให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๔ เป็นคดีใหม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ประกอบด้วยมาตรา ๘๖, มาตรา ๒๖๕, ๒๖๖, ๒๖๘ รวม ๑,๑๔๖ กรรม แต่ละกรรมให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๘ ที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา ๙๐ จำคุกจำเลยคนละ ๕ ปี ต่อ ๑ กรรมเป็นจำคุกคนละ ๕,๗๓๐ ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยคนละ ๒,๘๖๕ ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยคนละ ๒,๘๖๕ ปี แต่ให้ลงโทษจำคุกจำเลยคนละ ๒๐ ปีตามมาตรา ๙๑ (๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่๖) พ.ศ. ๒๕๖๖ มาตรา ๔ ริบของกลาง นับโทษต่อจากโทษในคดีอาญาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ทั้งหกร้อยยี่สิบสำนวนอุทธรณ์ขอไม่ให้นับโทษคดีนี้ทุกสำนวนต่อจากโทษในคดีอาญาของศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ทั้งหกร้อยยี่สิบสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ บัญญัติว่า “เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปแต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตามเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนด ดังต่อไปนี้ ฯลฯ (๒) ยี่สิบปีสำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี ฯลฯ” ศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ตามคดีอาญาหมายเลขแดง ๒ สำนวนกับคดี ๖๒๐ สำนวนนี้เกี่ยวพันกันความผิดทุกสำนวนกระทำขึ้นและปรากฏต่อพนักงานสอบสวนก่อนวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๒๓ ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ฟ้องคดีแรก แสดงว่าพนักงานสอบสวนอาจทำการสอบสวนความผิดทุกสำนวนให้เสร็จ แล้วเสนอความเห็นและส่งสำนวนไปยังโจทก์พร้อมกันทุกสำนวนได้ ซึ่งถ้าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่๓ ทุกกระทงความผิดในสำนวนเดียวกัน หรือหากโจทก์แยกฟ้องแต่ละกระทงความผิดเป็นรายสำนวน และศาลมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีทุกสำนวนรวมกันไปศาลก็จะพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ได้ไม่เกินคนละ ๒๐ ปี ดังนั้นแม้โจทก์จะแยกฟ้องคดี ๖๒๐ สำนวนนี้และศาลชั้นต้นมิได้พิจารณาพิพากษาคดี ๖๒๐ สำนวนนี้รวมกับคดีอาญาหมายเลขแดง ๒ สำนวนดังกล่าว ก็ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ทุกสำนวนเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นก็ต้องไม่เกินยี่สิบปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ หากจะแปลกฎหมายมาตราดังกล่าวว่า กรณีที่โจทก์แยกฟ้องแต่ละกระทงเป็นรายสำนวน และศาลมิได้สั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีรวมกัน ศาลมีอำนาจลงโทษจำคุกจำเลยเป็นรายสำนวน จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ อาจต้องได้รับโทษจำคุกนานถึงคนละ ๒,๘๖๕ ปี ทั้งการณ์จะเป็นว่าจำเลยจะได้รับโทษมากหรือน้อยก็แล้วแต่ว่าโจทก์จะแยกฟ้องแต่ละกระทงความผิดเป็นรายสำนวน หรือรวมฟ้องทุกกระทงความผิดเป็นสำนวนเดียวกัน และแล้วแต่ว่าศาลจะแยกพิจารณาพิพากษาเป็นรายสำนวน หรือรวมพิจารณาพิพากษาคดีทุกสำนวนเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นการลักลั่น น่าจะไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑
พิพากษาแก้ เป็นว่าไม่นับโทษในคดี ๖๒๐ สำนวนนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์