คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1450/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมที่ดินแปลงใหญ่ทั้งโฉนดเป็นของจำเลยร่วม จำเลยร่วมให้ผู้รับเหมาก่อสร้างตึกแถว 10 ห้อง พร้อม ๆ สร้างห้องแถวในที่ดินดังกล่าวผู้รับเหมาได้ทำรั้วกำแพงก่ออิฐถือปูนกว้าง 1 เมตร ยาว 3.50 เมตร แทนรั้วสังกะสีเดิมติดด้านหลังตึกแถวทุกห้อง จำเลยร่วมไม่ได้ทักท้วงห้ามปรามอย่างใด แสดงว่าจำเลยร่วมยินยอมให้ผู้รับเหมาทำรั้วกำแพงได้ ฉะนั้น การที่ผู้รับเหมาก่อสร้างกำแพงหลังตึกดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยสุจริตไม่เป็นการละเมิด ต่อมาจำเลยร่วมแบ่งแยกโฉนดโอนขายที่ดินนอกเขตที่สร้างตัวตึกแถวให้โจทก์ ขายตึกแถวเฉพาะที่ดินที่สร้างตึกแถวให้บุคคลอื่นและ ส.ส.ขายตึกแถวห้องเลขที่ 464/2 พร้อมทั้งที่ดินให้จำเลยที่ 1 หลังจากโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานกรมที่ดินมารังวัดสอบเขตแล้วความจึงปรากฏว่า รั้วกำแพงด้านหลังตึกแถวทุกห้องรวมทั้งห้องของจำเลยที่ 1 ด้วยก่อสร้างในที่ดินของโจทก์ ในกรณีเช่นนี้ไม่มีบทกฎหมายมาตราใดที่จะยกขึ้นมาปรับคดีได้โดยตรง ในการวินิจฉัยคดีจึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายใกล้เคียงตามมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และบทกฎหมายใกล้เคียงที่จะปรับกับข้อเท็จจริงคดีนี้คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1310 ประกอบด้วยมาตรา 1314 ซึ่งบัญญัติให้โจทก์เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของสิ่งก่อสร้างคือรั้วกำแพง แต่ต้องใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้างรั้วกำแพงนั้นให้แก่จำเลย ดังนี้โจทก์จะขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนรั้วกำแพงและเรียกค่าเสียหายไม่ได้ ทั้งจะให้จำเลยชำระเงินค่าใช้ที่ดินแก่โจทก์ก็ไม่ได้ เพราะรั้วกำแพงไม่ใช่โรงเรือน กรณีไม่เข้ามาตรา 1312 จำเลยไม่มีสิทธิใช้ที่ดินที่ก่อสร้างและภายในเขตรั้วกำแพงซึ่งเป็นที่พิพาทเพราะเป็นของโจทก์และคดีนี้จะบังคับให้โจทก์ใช้ค่าแห่งที่ดินที่เพิ่มขึ้น เพราะสร้างรั้วกำแพงนั้นให้แก่จำเลยก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะจำเลยไม่ได้ฟ้องแย้งและไม่มีประเด็นดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 1769จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 11731 พร้อมทั้งตึกแถวห้องเลขที่ 464/2 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองตึกแถวของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองร่วมกันก่ออิฐถือปูนทำรั้วกำแพงล้อมรอบด้านหลังตึกแถวรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์กว้างด้านละ 1.50 เมตร ยาว 4 เมตร โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองรื้อรั้วกำแพงดังกล่าวแล้ว จำเลยเพิกเฉย โจทก์ไม่สามารถใช้ที่ดินส่วนนั้นได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อรั้วกำแพงออกไปและให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้ทำรั้วกำแพงรุกล้ำที่ดินโจทก์รั้วกำแพงด้านหลังก่อสร้างพร้อมตึกแถว จำเลยซื้อตึกแถวพร้อมที่ดินจึงได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย ค่าเสียหายโจทก์เรียกร้องสูงเกินควร

จำเลยทั้งสองขอให้หมายเรียกนางศิริวรรณ ศรีมโนธรรม ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเดิมทั้งที่เป็นของโจทก์จำเลยที่ 1 และได้ขายที่ดินให้โจทก์ ขายที่ดินพร้อมตึกแถวให้แก่นายสิริ นายสิริขายต่อให้จำเลยที่ 1 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยร่วมขายแต่เฉพาะที่ดินที่ปลูกสร้างตึกแถวและตัวตึกแถวที่สร้างขึ้นไม่ได้สร้างกำแพงหลังตึกแถว รั้วกำแพงจำเลยกับเจ้าของตึกแถวห้องอื่น ๆ ทำกันขึ้นเอง จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิด

ศาลชั้นต้นฟังว่า ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยและเจ้าของตึกแถวแต่ละห้องออกเงินก่อสร้างกำแพงด้านหลังรุกล้ำที่ดินโจทก์ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนรั้วกำแพงก่ออิฐถือปูนออกไป และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายให้โจทก์

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ แต่ผู้รับเหมาได้ก่อสร้างกำแพงในขณะที่ดินยังเป็นของจำเลยร่วม จำเลยร่วมมิได้ทักท้วงห้ามปรามถือว่ายินยอมให้ก่อสร้างกำแพงนั้นได้ การกระทำของจำเลยและผู้รับเหมาเป็นไปโดยสุจริตมิได้ละเมิดสิทธิเจ้าของที่ดินมาแต่แรก โจทก์รับโอนที่พิพาทมาในภายหลังไม่มีสิทธิให้จำเลยรื้อถอนกำแพงออกจากที่พิพาท ชอบที่จะเรียกเงินค่าที่จำเลยใช้ส่วนแห่งแดนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์ในการที่จำเลยก่อสร้างกำแพงรุกล้ำเข้ามา โจทก์ควรได้ค่าใช้ที่ดินจากจำเลย พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะข้อที่ให้รื้อถอนกำแพงแต่ให้ชำระค่าใช้ที่ดินก่อนฟ้อง 75บาท และนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปปีละ 100 บาท จนกว่ากำแพงที่รุกล้ำจะสลายไปทั้งหมด

โจทก์จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ เดิมที่ดินแปลงใหญ่ทั้งโฉนดเป็นของจำเลยร่วม นายเชียงเหลียงผู้รับเหมาก่อสร้างตึกแถว 10 ห้องให้จำเลยร่วมเป็นผู้ทำรั้วกำแพงพิพาทแทนรั้วสังกะสีเดิมพร้อม ๆ กับก่อสร้างตึกแถวในปี พ.ศ. 2508 โจทก์ซื้อที่ดินจากจำเลยร่วมเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2509 ตอนที่โจทก์ซื้อนั้นตามคำของนายก้าน หุ่นโตภาพ พยานโจทก์เองเบิกความว่าตึกและรั้วกำแพงพิพาทสร้างเสร็จแล้ว ส่วนตึกแถวเลขที่ 464/2 และที่ดินที่ปลูกตึกแถว จำเลยร่วมจดทะเบียนโอนขายให้นายสิริเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2509 จำเลยทั้งสองเพิ่งเข้าไปอยู่ในตึกแถวเลขที่ 464/2 โดยตอนแรกเช่าจากนายสิริ ก็เป็นเวลาภายหลังที่นายสิริซื้อตึกแถวและที่ดินดังกล่าวจากจำเลยร่วมแล้วจำเลยทั้งสองจึงหาใช่ผู้ทำรั้วกำแพงพิพาทไม่ และขณะที่นายเชียงเหลียงผู้รับเหมาทำรั้วกำแพงในที่พิพาทนั้น ที่พิพาทและที่ดินที่ปลูกตึกแถวเลขที่ 464/2 ยังเป็นของจำเลยร่วมเจ้าของที่ดินเดิมอยู่ เพราะยังไม่ได้ขายให้โจทก์และนายสิริ การที่นายเชียงเหลียงผู้รับเหมาทำรั้วกำแพงในที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินของจำเลยร่วมเองย่อมไม่เป็นการละเมิด ทั้งไม่ปรากฏว่าที่นายเชียงเหลียงทำรั้วกำแพงแทนรั้วสังกะสีเดิมนั้นจำเลยร่วมได้ทักท้วงห้ามปรามแต่อย่างใด แสดงว่าจำเลยร่วมยินยอมให้นายเชียงเหลียงทำรั้วกำแพงได้ ฉะนั้น การที่นายเชียงเหลียงก่อสร้างรั้วกำแพงในที่พิพาท จึงเป็นการกระทำโดยสุจริต แต่ต่อมาจำเลยร่วมได้แบ่งแยกโฉนดโอนขายที่ดินซึ่งรวมทั้งที่พิพาทให้โจทก์ และขายตึกแถวเลขที่ 464/2 พร้อมทั้งที่ดินที่ปลูกตึกแถวให้นายสิริ และนายสิริขายต่อให้จำเลยที่ 1 ความจึงปรากฏหลังจากโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานกรมที่ดินมารังวัดตรวจสอบเขตว่า รั้วกำแพงด้านหลังตึกแถวของจำเลยที่ 1 ก่อสร้างในที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินของโจทก์ และวินิจฉัยว่าตามข้อเท็จจริงที่ฟังได้ดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่าไม่มีบทกฎหมายมาตราใดที่จะยกมาปรับคดีได้โดยตรง ในการวินิจฉัยจึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายใกล้เคียงตามมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และบทกฎหมายใกล้เคียงที่จะปรับกับข้อเท็จจริงคดีนี้คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1310 ประกอบกับมาตรา 1314 ซึ่งบัญญัติให้โจทก์เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของสิ่งก่อสร้างคือรั้วกำแพงแต่ต้องใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้างรั้วกำแพงนั้นให้แก่จำเลย ดังนี้ โจทก์จะขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนรั้วกำแพงและเรียกค่าเสียหายไม่ได้ ทั้งจะให้จำเลยชำระเงินเป็นค่าใช้ที่ดินแก่โจทก์ตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ก็ไม่ได้ เพราะรั้วกำแพงไม่ใช่โรงเรือนกรณีไม่เข้ามาตรา 1312 จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิใช้ที่พิพาทซึ่งเป็นของโจทก์ส่วนจะบังคับให้โจทก์ใช้ค่าแห่งที่ดินที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้างรั้วกำแพงนั้นให้แก่จำเลยก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะจำเลยไม่ได้ฟ้องแย้งและไม่มีประเด็นดังกล่าว

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องชำระค่าใช้ที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสิ้นนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share