แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ลูกจ้างของบริษัทเดินรถโดยสาร เป็นสารวัตรควบคุมการเดินรถและตรวจตั๋วขับรถโดยประมาทในเส้นทางของบริษัทในทางค้าปกติเพราะคนขับไม่อยู่บริษัทต้องรับผิดในความเสียหายที่รถตก คนโดยสารต้องตัดแขนตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 634 ต้องใช้ค่าเสียหายรวมถึงการที่โจทก์ได้รับความเสียหายต้องตัดข้อมือขวาใช้แขนเทียมแทนเสียความสามารถประกอบการงาน และความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินด้วย
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 40,635 บาทกับดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เป็นให้ใช้เงินเพิ่มอีก 30,000 บาท โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นบริษัทจำกัดซึ่งได้รับสัมปทานเดินรถขนส่งคนโดยสารในเส้นทางระหว่างสงขลา-หาดใหญ่ ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุกคนโดยสารของจำเลยที่ 2 จากหาดใหญ่จะไปสงขลาโดยประมาทเฉลบลงคูข้างถนน เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งโดยสารไปในรถได้รับอันตรายแก่กายถึงกับต้องถูกตัดข้อมือขวา เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 2 คงมีประเด็นมาสู่ศาลฎีกา 2 ประการคือ
1. จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่
2. เรื่องค่าเสียหายของโจทก์
ประเด็นข้อ 1 จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1นอกเหนือหน้าที่การงานในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิด ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าแม้จำเลยที่ 1 จะเป็นสารวัตรเดินรถ มีหน้าที่ควบคุมการเดินรถและตรวจตั๋ว มิได้เป็นพนักงานขับรถประจำรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุตามที่จำเลยที่ 2 นำสืบต่อสู้ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นลูกจ้างผู้มีหน้าที่ควบคุมการเดินรถดังกล่าวของจำเลยที่ 2 เห็นมีคนโดยสารเต็มรถและคนขับไม่อยู่ จึงเข้าทำหน้าที่ขับเพื่อพาผู้โดยสารไปส่งในเส้นทางสงขลา-หาดใหญ่อันเป็นเส้นทางในสัมปทานเดินรถของจำเลยที่ 2 เสียเองนั้น ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1ได้กระทำการขับรถคันเกิดเหตุรับส่งคนโดยสารไปในทางค้าปกติของจำเลยที่ 2นั่นเอง ข้อเท็จจริงในคดีเรื่องนี้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นบริษัทที่กระทำการรับขนคนโดยสารตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 608 ซึ่งต้องรับผิดในความเสียหายอันเกิดแก่โจทก์ซึ่งเป็นคนโดยสาร เว้นแต่การเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดแต่ความผิดของโจทก์เองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 634 เมื่อเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาท ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์” ฯลฯ
“ค่าเสียหายเกี่ยวกับการที่โจทก์ถูกตัดข้อมือขวาประกอบอาชีพไม่ถนัดทำให้รายได้ตกต่ำ ค่าเสียหายรายการนี้ศาลชั้นต้นฟังว่าโจทก์ไม่ขาดประโยชน์จากการขายอาหาร จำเลยไม่ต้องชดใช้ แต่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์สืบไม่ได้เป็นกิจจะลักษณะว่าโจทก์มีรายได้จากการขายอาหารและยางพาราเท่าใดแน่ แต่การที่ต้องถูกตัดข้อมือแล้วใช้แขนเทียมทำให้เสียความสามารถประกอบการงาน จึงให้โจทก์ได้รับค่าเสียหายในกรณีนี้อีก30,000 บาทนั้น โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ควรได้ 480,000 บาทเต็มตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์ไม่ควรได้เลยเพราะโจทก์มิได้ประกอบการค้าอย่างใดเป็นกิจจะลักษณะ ขณะนี้บ่อนชนโคก็เลิกโจทก์ไม่ได้ขายอาหารแล้ว และโจทก์ไม่ได้ค้ายางพารา ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าในการที่โจทก์ต้องถูกตัดข้อมือขวาแล้วใช้แขนเทียมแทน ย่อมทำให้โจทก์เสียความสามารถประกอบการงานไปโดยสิ้นเชิงหรือบางส่วน ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 30,000 บาท เป็นการเหมาะสมและชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 แล้ว
ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกเป็นค่าตกใจและกระทบกระเทือนจิตใจเพราะสูญเสียข้อมือขวา ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าไม่มีบทกฎหมายสนับสนุนให้เรียกได้แต่เห็นว่าการที่โจทก์ต้องถูกตัดข้อมืออันเป็นความเสียหายแก่ร่างกาย โจทก์ชอบที่จะได้รับชดใช้ค่าเสียหายเพราะพิการไปตลอดชีวิตเป็นเงิน 30,000 บาทและศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยนั้น โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ควรจะได้ค่าเสียหายเนื่องจากโจทก์ทุกข์ระกำใจเพราะสูญเสียแขน 60,000 บาทตามฟ้อง จำเลยฎีกาว่าแม้แขนโจทก์จะขาดไปแต่ใช้แขนเทียมได้และควรได้ค่าเสียหายไม่เกิน 10,000 บาท ศาลฎีกพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ค่าเสียหายทางจิตใจที่โจทก์เกิดความตกใจหรือกระทบกระเทือนจิตใจนี้ ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติให้เรียกร้องได้ แต่อย่างไรก็ดีตามคำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายว่าผลแห่งการละเมิดทำให้โจทก์ตกใจเป็นอย่างมาก และการที่โจทก์ต้องสูญเสียแขนขวาไปเป็นการกระทบกระเทือนจิตใจโจทก์เป็นอย่างยิ่ง โจทก์ขอคิดค่าเสียหายในส่วนนี้ 60,000 บาทนั้น พอแปลความได้ว่าโจทก์ประสงค์เรียกร้องเอาค่าเสียหายเพราะเหตุที่โจทก์ต้องถูกตัดข้อมือขวานั่นเองเป็นการเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 และศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 30,000 บาทนั้นเหมาะสมแล้ว”
พิพากษายืน