คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14437/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มอบโฉนดที่ดิน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์และใบมอบอำนาจที่ลงลายมือชื่อโจทก์ไว้แล้วแต่ยังไม่ได้กรอกข้อความ ให้แก่ ต. เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ ต่อมา ต. นำที่ดินของโจทก์ไป จดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ค่าซื้อสินค้าแก่จำเลยที่ 1 แล้วไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือบังคับจำนองดังนี้ การที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 กระทำการโดยไม่สุจริต จะต้องมีภาระการพิสูจน์ แต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ไม่สุจริตอย่างไร ลำพังเพียงเหตุที่โจทก์ไม่รู้จักกับจำเลยที่ 1 และการกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์นั้น ไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต การที่โจทก์มอบเอกสารดังกล่าวพร้อมกับใบมอบอำนาจที่มีการลงลายมือชื่อโจทก์โดยไม่ได้กรอกข้อความให้แก่ ต. ไปนั้น แสดงว่า โจทก์ก็รู้ดีและยอมรับอยู่แล้วว่า ต. สามารถนำที่ดินโจทก์ไปโอนขายหรือจำนองหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการเปิดโอกาสให้นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ได้ ถือได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และจะยกเอามาเป็นมูลเหตุฟ้องร้อง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองโดยสุจริตหาได้ไม่ เมื่อทั้งสองฝ่ายไม่อาจนำ ต. มาเบิกความให้ได้ข้อเท็จจริงจนกระจ่างชัด จึงต้องใช้หลักผู้ประมาทเลินเล่อย่อมเป็นผู้เสียเปรียบ ถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์รับผิดในดอกเบี้ย ของต้นเงินที่ ต. จะต้องรับผิดต่อ จำเลยที่ 1 ก่อนที่ ต. จะผิดนัดชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 นั้น เป็นการพิพากษาเกินกว่าความรับผิด อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย อีกเช่นกัน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.พ.พ. 142 (5), 246 และ 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 คืนโฉนดที่ดินแก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินของโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาและให้ส่งมอบโฉนดที่ดินคืนโจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหาย 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้อง และบังคับให้โจทก์ชำระเงิน 456,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 250,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 กระทำการแทนจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
โจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 8997 ตำบลบ้านแหวน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้คืนโฉนดที่ดินแก่โจทก์และให้ใช้ค่าเสียหายจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 เมษายน 2547) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับ และยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมฟ้องแย้งระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องแย้ง (ฟ้องแย้งวันที่ 4 พฤษภาคม 2547) ต้องไม่เกิน 206,250 บาท หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 8997 ตำบลบ้านแหวน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแก่จำเลยที่ 1 ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งและฟ้องเดิมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า หนังสือสัญญาจำนองเป็นประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การทำนิติกรรมใดๆ เจ้าของที่ดินอาจมอบหมายให้ผู้อื่นไปดำเนินการแทนได้ เมื่อเอกสารหลักฐานของโจทก์ตามที่ได้รับจากนางตวงพรครบถ้วนถูกต้อง แม้โจทก์ไม่ได้มาทำนิติกรรมด้วยตนเองก็ไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องระแวงสงสัยแต่อย่างใด การที่โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจโดยไม่กรอกข้อความ พร้อมมอบโฉนดที่ดิน กับสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านให้แก่นางตวงพรยึดถือไว้เป็นประกัน แสดงว่าโจทก์รู้ดีและยอมรับอยู่แล้วว่านางตวงพรสามารถนำหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้ไปกระทำการโอนขายหรือจำนองหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการกระทำที่เปิดโอกาสให้นางตวงพรนำเอกสารไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ได้ ถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โจทก์จะยกเอาเหตุที่เกิดจากความประมาทของโจทก์มาเป็นมูลเหตุฟ้องร้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองโดยสุจริตหาได้ไม่ เมื่อโจทก์และจำเลยต่างไม่สามารถนำนางตวงพรผู้รู้เห็นเหตุการณ์มาเบิกความให้ข้อเท็จจริงกระจ่างชัด จึงต้องใช้หลักผู้ประมาทเลินเล่อย่อมเป็นผู้เสียเปรียบ การที่โจทก์มาฟ้องขอให้เพิกถอนการจำนองจึงถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และปัญหาเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์และให้โจทก์ชำระเงินเพื่อไถ่ถอนจำนองตามฟ้องแย้งนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ค่าสินค้าของนางตวงพร ความรับผิดของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นนับแต่วันที่นางตวงพรผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งตามสำเนาคำพากษา โจทก์คดีดังกล่าว (จำเลยที่ 1 คดีนี้) ขอให้นางตวงพรรับผิดนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2542 ซึ่งเป็นวันผิดนัดชำระหนี้ โจทก์จึงต้องรับผิดนับแต่วันดังกล่าวเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้โจทก์ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2541 จึงเป็นการกำหนดให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยเกินกว่าความรับผิด อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 246 และ 247
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์รับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2542 เป็นต้นไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share