คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1443/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้นอาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง บทบัญญัตินี้เป็นลักษณะของการกระทำคือครอบครองทรัพย์มรดกเป็นส่วนสัดโดยเจตนายึดถือเพื่อตนทำนองเดียวกับบทบัญญัติบรรพ 4 ทรัพย์สิน ลักษณะ 3 ครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ซึ่งอาจให้ผู้อื่นยึดถือไว้แทนก็ได้ ตามมาตรา 1368
การที่ทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียว ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่น
โจทก์ จำเลยและทายาทอื่นอีก 3 คน ตกลงให้ที่ดินมรดก 1 แปลง ตกแก่จำเลยแต่ผู้เดียวและจำเลยเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดโดยนำไปออกโฉนดและแบ่งแยกเป็น 5 แปลง ซึ่งมีที่ดินพิพาทในคดีนี้รวมอยู่ด้วย กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาที่ดินพิพาทให้ผิดไปจากข้อตกลง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 125905 เนื้อที่ 10 ไร่ 1 งาน 48 ตารางวา และที่ดินโฉนดเลขที่ 130316 เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 26 ตารางวา ในส่วนที่ติดอยู่กับที่ดินโฉนดเลขที่ 125905 ดังกล่าว พร้อมขอแบ่งแยกออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ ให้จำเลยเสียค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม ค่าภาษีในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและแบ่งแยกออกโฉนดที่ดิน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้โจทก์มีสิทธิดำเนินการได้เองทุกประการ ตลอดจนเรียกค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม และค่าภาษีที่โจทก์ต้องเสียไปจากจำเลย กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 125905 และ 130316 จำนวน 1 ใน 3 ส่วนของที่ดินพิพาทแต่ละแปลง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย คำขออื่นให้ยก ให้จำเลยใช้ค่าชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ 3,274.50 บาท และจำเลย 1,336.50 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย่วา ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า นายย้อยและนางล้วนอยู่กินฉันสามีภริยากัน ซึ่งทางนำสืบไม่ปรากฏว่าจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่ มีบุตรด้วยกัน 5 คน คือ จำเลย โจทก์ นางคงคา นางวิไลและนางวรรณา เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2493 นายหนู บิดาของนายย้อยได้ทำหนังสือยกที่ดินเนื้อที่ประมาณ 28 ไร่ 90 ตารางวา ไม่มีเอกสารสิทธิซึ่งพิพาทกันในคดีนี้ให้แก่นายย้อย โดยหนังสือยกให้ทำขึ้นที่ว่าการอำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ มีนายอำเภอลงลายมือชื่อและประทับตราตำแหน่งเป็นสำคัญ ต่อมาวันที่ 17 มีนาคม 2498 นายย้อยได้แจ้งการครอบครองที่ดิน วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2523 นายย้อยถึงแก่ความตาย วันที่ 4 สิงหาคม 2524 นางล้วนถึงแก่ความตาย นางล้วนมีที่ดินมรดก 1 แปลง โจทก์ จำเลยและพี่น้องรวม 5 คน ตกลงยกที่ดินมรดกของนางล้วนให้แก่นางวิไลและนางวรรณาคนละกึ่งหนึ่ง ที่ดินพิพาทจำเลยทำประโยชน์แต่เพียงผู้เดียวตั้งแต่นายย้อยถึงแก่ความตาย โจทก์และนางคงคาไม่ได้เข้าทำประโยชน์ที่ดินพิพาทเลยเนื่องจากโจทก์และนางคงคามีครอบครัวอยู่ที่กรุงเทพมหานคร โดยนางวิไลและนางวรรณาไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทเช่นกัน วันที่ 13 ตุลาคม 2542 จำเลยได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินพิพาท วันที่ 26 ตุลาคม 2542 จำเลยนำเจ้าพนักงานรังวัดที่ดินพิพาทได้เนื้อที่ 26 ไร่ 1 งาน 48 ตารางวา ในการขอออกโฉนดที่ดินพิพาทจำเลยได้นำนางวิไลและนางวรรณาไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2542 ด้วย เจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย หลังจากนั้นวันที่ 5 มิถุนายน 2545 จำเลยยื่นคำขอแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกไปในนามเดิม 3 แปลง และวันที่ 26 สิงหาคม 2545 ยื่นคำขอแก้คำขอแบ่งแยกที่ดินพิพาทในนามเดิมเพิ่มอีก 1 แปลง รวมแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกไป 4 แปลง รวมที่ดินทั้งหมดเป็น 5 แปลง โดยที่ดินที่แยกออกไปคือโฉนดที่ดินเลขที่ 130313 ถึง 130316 เนื้อที่ 4 ไร่ 3 ไร่ 3 ไร่ และ 6 ไร่ คงเหลือที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 125905 เพียง 10 ไร่ 1 งาน 48 ตารางวา ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 130313 ถึง 130315 เนื้อที่ 4 ไร่ 3 ไร่ และ 3 ไร่ รวม 3 แปลง จำเลยได้ขายไปแล้ว วันที่ 7 ตุลาคม 2547 จำเลยได้นำที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 130316 เนื้อที่ 6 ไร่ ไปจำนองไว้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของโจทก์และตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ จำเลยและทายาทอื่น คือ นางคงคา นางวิไล และนางวรรณาตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกันหรือไม่ อย่างไร และการแบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ เห็นว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง บทบัญญัตินี้เป็นลักษณะของการกระทำคือครอบครองทรัพย์มรดกเป็นส่วนสัดโดยเจตนายึดถือเพื่อตนทำนองเดียวกับบทบัญญัติบรรพ 4 ทรัพย์สิน ลักษณะ 3 ครอบครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 ซึ่งอาจให้ผู้อื่นยึดถือไว้แทนก็ได้ ตามมาตรา 1368 ดังนั้น หากข้อเท็จจริงได้ความว่ามีการแบ่งปันที่ดินพิพาทตามที่โจทก์ฟ้องคือแบ่งเป็น 3 ส่วน และให้จำเลยครอบครองแทนโจทก์และนางคงคาหรือข้อเท็จจริงได้ความตามที่จำเลยให้การว่า โจทก์และนางคงคาตกลงให้จำเลยได้แต่เพียงผู้เดียวและจำเลยไม่เคยครอบครองแทนแต่อย่างใดแล้ว ย่อมถือได้ว่าเป็นการตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกตามมาตรา 1750 วรรคหนึ่งแล้ว โจทก์เบิกความว่า หลังจากนางล้วนมารดาถึงแก่ความตายได้มีการแบ่งที่ดินพิพาทเป็น 3 ส่วน ระหว่างโจทก์ นางคงคาและจำเลยลักษณะเป็นการแบ่งกันคร่าว ๆ ใช้เสาไม้เล็ก ๆ ปักไว้เป็นแนวเขตโดยตาพัดซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านคนเดิมเป็นคนแบ่ง แต่นางคงคาเบิกความว่า เพียงแต่ไปชี้แนวเขตไม่ได้ใช้ไม้ปักแบ่งจึงแตกต่างกันเอาแน่เอานอนไม่ได้ว่ามีการใช้ไม้ปักไว้เป็นแนวเขตหรือไม่ ทั้งไม่ได้นำตาพัดมาเบิกความสนับสนุนจึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ที่โจทก์เบิกความว่าให้จำเลยครอบครองที่ดินแทนโดยจำเลยตกลงส่งข้าวสารที่ได้จากการปลูกข้าวให้แก่โจทก์ จำเลยส่งข้าวสารให้เพียง 3 ปี ก็หยุดส่งก็เป็นการเบิกความลอย ๆ ขัดต่อเหตุผลเพราะหากจำเลยไม่ส่งข้าวสารให้ตามที่ตกลงโจทก์ก็น่าจะทวงถามแต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามเลย นอกจากนี้ที่โจทก์เบิกความว่าได้ให้จำเลยออกโฉนดที่ดินแทนในนามของจำเลยก่อนโดยโจทก์ออกค่าใช้จ่ายในการออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยเป็นเงิน 20,000 บาท ทองคำหนัก 1 บาท และโทรทัศน์สี 1 เครื่อง ก็คงมีโจทก์เพียงปากเดียวเบิกความลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนเช่นกัน และค่าใช้จ่ายที่โจทก์อ้างว่าเสียไปนับว่าสูงกว่าความเป็นจริง สำหรับที่ดินพิพาทซึ่งขณะขอออกโฉนดที่ดินพิพาทเมื่อปี 2542 คงมีราคาไม่มากซึ่งตามสำเนาบันทึกข้อความ ที่โจทก์อ้างเป็นพยานนั้นเป็นเอกสารที่เจ้าพนักงานจัดทำขึ้นระบุค่าใช้จ่ายในการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินเพียง 4,420 บาท ยิ่งกว่านั้นไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายว่าการที่ทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินแต่ผู้เดียวนับแต่นายย้อยถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2524 จนกระทั่งโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2558 เป็นเวลาถึง 33 ปี โดยระหว่างนั้นจำเลยได้แบ่งที่ดินออกเป็นแปลงย่อยอีก 4 แปลง ก็ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดคัดค้านซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเลยมิได้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ ดังนี้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่า โจทก์ จำเลยและทายาทอื่นตกลงแบ่งที่ดินเป็น 3 ส่วน ให้โจทก์และจำเลยกับนางคงคาได้ส่วนเท่า ๆ กันโดยโจทก์และนางคงคาให้จำเลยครอบครองแทน ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยเบิกความยืนยันว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแต่เพียงผู้เดียวนับแต่นายย้อยซึ่งเป็นบิดาถึงแก่ความตายไม่เคยตกลงแบ่งที่ดินเป็นสามส่วน หลังจากนางล้วนซึ่งเป็นมารดาถึงแก่ความตายจนกระทั่งปี 2542 จำเลยไปหาโจทก์และนางคงคาที่กรุงเทพมหานครแจ้งว่าที่ดินพิพาทสามารถออกโฉนดที่ดินได้ โจทก์บอกว่าที่ดินพิพาทติดทำเลเลี้ยงสัตว์ไม่น่าจะออกโฉนดที่ดินได้ หากจะออกโฉนดที่ดินจะเสียค่าใช้จ่ายไม่คุ้มค่าและไม่ประสงค์จะได้ที่ดินพิพาท ส่วนนางคงคาก็บอกว่าไม่ประสงค์จะได้ที่ดินพิพาทเช่นกัน จำเลยจึงได้ขอออกโฉนดที่ดินเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียวโดยนางวิไลและนางวรรณาได้ไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า ไม่คัดค้านในการที่จำเลยขอออกโฉนดที่ดินด้วย เห็นว่า แม้จะมีจำเลยเบิกความเพียงปากเดียวว่า โจทก์และนางคงคาไม่ประสงค์จะได้ที่ดินพิพาท แต่ก็มีเหตุผลเพราะเมื่อพิจารณาแนวเขตที่ดินพิพาทขณะที่นายย้อยแจ้งการครอบครองและรูปแผนที่แล้ว ปรากฏว่า ทางด้านทิศเหนือติดทำเลเลี้ยงสัตว์ป่าตะลึง ทางด้านทิศตะวันออกติดหนองโสนซึ่งเป็นหนองน้ำสาธารณะอันเป็นการสอดคล้องกับคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยที่อ้างว่าโจทก์บอกกับจำเลยว่าที่ดินพิพาทติดกับที่สาธารณะไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้และสอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลยที่เบิกความยืนยันดังกล่าวข้างต้น นอกจากนี้นางวิไลและนางวรรณาพยานโจทก์ก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ได้ไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าไม่คัดค้านในการที่จำเลยขอออกโฉนดที่ดินโดยเฉพาะบันทึกถ้อยคำ ซึ่งนางวรรณาให้ถ้อยคำว่าทายาทอื่นทราบแล้วไม่ขอโต้แย้งการขอออกโฉนดที่ดินเป็นของจำเลย จึงเจือสมกับที่จำเลยเบิกความ การที่จำเลยไปขอออกโฉนดที่ดินว่ารับมรดกก็เนื่องจากจำเลยเห็นว่ามีการแบ่งปันมรดกพิพาทส่วนนี้แก่จำเลยเท่านั้นหาใช่เป็นการยอมรับว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกแทนดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยไม่ เพราะไม่มีบทกฎหมายบัญญัติว่าการที่ทายาทครอบครองทรัพย์มรดกแล้วเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นดังกล่าวมาข้างต้น พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมามีน้ำหนักรับฟังได้และมีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ จำเลย นางคงคา นางวิไลและนางวรรณาตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทโดยให้จำเลยเป็นผู้ได้รับแต่เพียงผู้เดียวและจำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดแล้ว กรณีต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง ดังนั้น โจทก์จะเรียกร้องเอาส่วนแบ่งจากที่ดินพิพาทให้ผิดไปจากข้อตกลงหาได้ไม่ เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วปัญหาตามฎีกาโจทก์ที่ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับที่ดินพิพาทเท่าใด และปัญหาตามฎีกาจำเลยว่า คดีขาดอายุความมรดกหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น ส่วนฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share