คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1441/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยมอบอำนาจให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภ. เป็นตัวแทนในการจัดสรรที่ดินและปลูกบ้านขายโดยให้มีอำนาจตั้งตัวแทนช่วงได้แล้วห้างหุ้นส่วนจำกัด ภ. มอบอำนาจให้โจทก์เป็นตัวแทนช่วงโจทก์จึงกระทำการต่าง ๆ เกี่ยวกับการปลูกสร้างบ้านและจัดสรรที่ดินของจำเลยเป็นขั้นตอนหลายประการจนถึงขนาดจำเลยมอบอำนาจโดยตรงให้โจทก์เป็นผู้ชี้แจงเรื่องภาษีต่อเจ้าหน้าที่สรรพากรเช่นนี้จำเลยกับโจทก์จึงมีนิติสัมพันธ์กันในฐานะตัวการตัวแทนตลอดมาโจทก์มีอำนาจออกเงินทดรองจ่ายแทนจำเลยและเรียกให้จำเลยรับผิดชดใช้คืนให้แก่โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมอบอำนาจให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดภักดีวิทยาทำการจัดสรรที่ดินและก่อสร้างบ้านพักอาศัยขาย และมีอำนาจตั้งตัวแทนช่วงได้ ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดภักดีวิทยาได้มอบอำนาจให้โจทก์เป็นตัวแทนช่วง โจทก์เข้าทำกิจการจัดสรรที่ดินของจำเลยโดยก่อสร้างบ้านพักอาศัยและอาคารพาณิชย์ขายให้บุคคลทั่วไปโจทก์ออกเงินทดรองจ่ายค่าวัสดุก่อสร้างรวม 320,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยได้มอบให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดภักดีวิทยาเป็นตัวแทนเฉพาะในการขายและรับเงินเท่านั้น ไม่ได้มอบอำนาจให้ทดรองการจ่ายเงิน จำเลยไม่รู้เห็นหรือทราบเรื่องที่โจทก์ได้รับมอบอำนาจจากห้างหุ้นส่วนจำกัดภักดีวิทยาให้เป็นตัวแทนช่วงและไม่เคยเชิดโจทก์ให้เป็นตัวแทนของจำเลย โจทก์ไม่ได้ออกเงินทดรองค่าใช้จ่ายจำนวนเงิน 320,000 บาท แทนจำเลย หนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารปลอม ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 320,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 31 สิงหาคม2529 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อ 2 มีว่าโจทก์เป็นตัวแทนของจำเลยและมีอำนาจจ่ายเงินทดรองหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าจำเลยมอบอำนาจให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดภักดีวิทยาเป็นตัวแทนในการจัดสรรที่ดินและปลูกบ้านขาย ไม่ได้มอบอำนาจให้ทดรองจ่ายเงิน การมอบอำนาจระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัดภักดีวิทยากับโจทก์จึงต้องอยู่ภายในขอบเขตที่จำเลยมอบอำนาจเท่านั้นทั้งหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวก็ไม่มีข้อความว่าให้โจทก์ทดรองจ่ายเงินแต่อย่างใด การที่โจทก์นำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นเพียงสำเนานายสุทัศน์ ภักดีพาณิชย์ และนายชาญศักดิ์ เกื้อทิพย์วิทยาซึ่งโจทก์อ้างว่ามอบอำนาจให้โจทก์ไม่ได้มาเบิกความรับรองลายมือชื่อและไม่มีการส่งลายมือชื่อบุคคลทั้งสองไปพิสูจน์ จึงเป็นเอกสารปลอมเห็นว่า ฟ้องโจทก์บรรยายว่าในการที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดภักดีวิทยามอบอำนาจให้โจทก์เป็นตัวแทนช่วงนั้นจำเลยทราบโดยแสดงออกแจ้งชัดและโดยปริยายยินยอมให้โจทก์เป็นตัวแทนและเชิดโจทก์อันมีลักษณะเป็นตัวแทนเชิดหรือตัวแทนโดยปริยายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 821 ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 798 การเป็นตัวแทนเชิดหรือตัวแทนโดยปริยายในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไม่จำต้องตั้งโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ การนำสืบพยานบุคคลเกี่ยวกับการที่โจทก์มีอำนาจออกเงินทดรองจ่ายซึ่งนอกเหนือจากข้อความที่ปรากฏในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.7 จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 โจทก์เบิกความว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดภักดีวิทยา โดยนายชาญศักดิ์กับนายสุทัศน์ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากจำเลยให้ตั้งตัวแทนช่วงได้มอบอำนาจทั่วไปให้โจทก์ทำการจัดสรรที่ดินพร้อมปลูกบ้านพักอาศัยของจำเลย ปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.7 หลังจากนั้นโจทก์ติดต่อกับจำเลยทั้งทางโทรศัพท์และไปติดต่อที่กรุงเทพมหานครกับทำการโฆษณาปรากฏตามหนังสือพิมพ์เอกสารหมาย จ.15 จ.16 และ จ.17 และโจทก์ลงชื่อเป็นผู้จะขายที่ดินที่จัดสรรนี้แทนห้างหุ้นส่วนจำกัดภักดีวิทยาด้วยปรากฏตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง รวม 10 ฉบับเอกสารหมาย จ.18 ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอาคาร ห้างหุ้นส่วนจำกัดภักดีวิทยาเป็นผู้มอบเงินให้โจทก์ไปดำเนินการก่อสร้าง โจทก์เป็นผู้ซื้อวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างจากร้านต่าง ๆ หลายร้านในจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดชลบุรี เมื่อร้านต่าง ๆ ส่งสินค้ามาแล้วก็จะส่งใบรับเงินมาคิดเงินกับโจทก์ โจทก์ก็จะนำเงินที่ได้รับจากห้างดังกล่าวจ่ายให้ร้านค้า กรณีเงินไม่พอโจทก์ก็จะออกเงินทดรองจ่าย แล้วไปคิดบัญชีกับห้างดังกล่าวในภายหลัง และทางห้างก็จะนำเงินมาชำระให้โจทก์ เช็คที่โจทก์ทดรองจ่ายปรากฏตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.19 การจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่ผู้จะซื้อบางรายจำเลยมอบอำนาจให้นายมิ่ง อยู่เจริญ ดำเนินการแทนบางรายก็มอบอำนาจให้โจทก์ดำเนินการแทนปรากฏตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจจำนวน 32 ฉบับเอกสารหมาย จ.20 เมื่อลูกค้าได้ชำระค่าซื้อบ้านและที่ดินแล้วโจทก์ก็จะนำเงินไปซื้อตั๋วแลกเงินหรือเช็คมอบให้นายวันชัยศรียาตรา เจ้าหน้าที่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด นำไปเข้าบัญชีของจำเลยเพื่อหักชำระหนี้ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด ซึ่งจำเลยเป็นหนี้อยู่ โดยโจทก์กับนายมิ่งลงชื่อสลักหลังตั๋วแลกเงินหรือเช็คด้วย ปรากฏตามสำเนาตั๋วแลกเงินและสำเนาด้านหลังตั๋วแลกเงินจำนวน 20 ฉบับ เอกสารหมาย จ.21 กับสำเนาตั๋วแลกเงินเอกสารหมาย จ.22เมื่อต้นปี 2529 จำเลยถูกสรรพากรจังหวัดฉะเชิงเทราเรียกเก็บภาษีในการขายอสังหาริมทรัพย์ตามโครงการบ้านและที่ดินที่จัดสรรนี้จำเลยมอบอำนาจให้โจทก์ไปชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่สรรพากร ปรากฏตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.28 เจ้าหน้าที่สรรพากรเรียกผู้ซื้อบ้านและที่ดินที่จัดสรรนี้บางรายไปสอบปากคำ ผู้ซื้ออ้างว่าซื้อจากโจทก์ปรากฏตามสำเนาคำให้การของนางสาวกริสริยา เอื้อกมลชาญเอกสารหมาย จ.29 ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์การชำระภาษีต่อสรรพากรจังหวัดฉะเชิงเทราอ้างว่าบ้านและที่ดินที่จัดสรรนี้ โจทก์เป็นผู้ดำเนินการและเป็นผู้เสียภาษีปรากฏตามสำเนาคำอุทธรณ์เอกสารหมายจ.30 นายธนรัตน์ ตันสุวรรณรัตน์ พยานโจทก์เบิกความสนับสนุนว่าพยานลงชื่อเป็นพยานในหนังสือที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดภักดีวิทยามอบอำนาจให้โจทก์ดำเนินการในโครงการจัดสรรบ้านและที่ดินเอกสารหมายจ.7 โดยนายสุทัศน์และนายชาญศักดิ์ลงชื่อต่อหน้าพยานด้วยนายมิ่ง อยู่เจริญ พยานโจทก์เบิกความว่า ในการดำเนินการก่อสร้างบ้านจัดสรร โจทก์เป็นผู้สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างเองเกือบทั้งหมดและรับผิดชอบต่อร้านค้าที่สั่งซื้อ แล้วจึงไปเรียกร้องจากห้างหุ้นส่วนจำกัดภักดีวิทยา นายวินัย งามวสุศิริ กับนายวันชัย กิจสวัสดิ์โอสถ พยานโจทก์ทั้งสองซึ่งเคยทำงานในโครงการบ้านและที่ดินจัดสรรนี้ เบิกความสนับสนุนทำนองเดียวกันว่าการซื้อวัสดุก่อสร้างทุกครั้งต้องรายงานให้โจทก์ทราบก่อน บางครั้งโจทก์ก็จัดซื้อเอง การชำระราคาบางครั้งเป็นเช็คที่โจทก์เป็นผู้สั่งจ่าย ซึ่งหากไม่มีการใช้เงินตามเช็คเพราะห้างหุ้นส่วนจำกัดภักดีวิทยาไม่โอนเงินมา โจทก์ก็จะนำเงินสดทดรองจ่ายไปแลกเช็คคืนแล้วจึงคิดบัญชีกับทางห้างภายหลัง จำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างว่าเอกสารต่าง ๆ ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวไม่ถูกต้องประการใดบ้าง จึงฟังได้ว่าเอกสารต่าง ๆ นั้นถูกต้อง การที่จำเลยมอบอำนาจให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดภักดีวิทยาตั้งตัวแทนช่วงได้แล้วห้างดังกล่าวมอบอำนาจให้โจทก์เป็นตัวแทนช่วง จากนั้นโจทก์กระทำการต่าง ๆ เกี่ยวกับการปลูกสร้างบ้านและจัดสรรที่ดินของจำเลยเป็นขั้นตอนหลายประการจนถึงขนาดจำเลยมอบอำนาจโดยตรงให้โจทก์เป็นผู้ชี้แจงเรื่องภาษีต่อเจ้าหน้าที่สรรพากรและทำคำอุทธรณ์ในเรื่องภาษีรับว่าโจทก์เป็นผู้ดำเนินการจัดสรรบ้านและที่ดินของจำเลย เช่นนี้แสดงให้เห็นว่าจำเลยกับโจทก์มีนิติสัมพันธ์กันในฐานะตัวการตัวแทนตลอดมา และโจทก์จำเป็นต้องออกเงินทดรองจ่ายไปบางส่วนด้วย ดังนั้น ที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยไม่เคยตั้งโจทก์เป็นตัวแทนหรือเชิดโจทก์เป็นตัวแทนจึงไม่มีน้ำหนัก พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นตัวแทนของจำเลยและมีอำนาจออกเงินทดรองจ่ายด้วย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์ออกเงินทดรองจ่ายแทนจำเลยไปจำนวนเท่าใด ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์อ้างว่าได้ออกเงินทดรองจ่ายแทนจำเลยเป็นเงิน 320,000 บาท แต่โจทก์ไม่ได้แสดงหลักฐานไว้ในชั้นสืบพยานจึงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ออกเงินทดรองจ่ายจำนวนดังกล่าวนั้น โจทก์เบิกความว่า ภายหลังเสร็จสิ้นโครงการบ้านจัดสรรแล้ว โจทก์ได้คิดบัญชีค่าใช้จ่ายซึ่งโจทก์ได้ทดรองจ่ายรวมเป็นเงิน 320,000 บาท ต่อมาปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม 2529 โจทก์ไปหานายสุทัศน์เพื่อคิดบัญชีและขอเบิกเงินที่โจทก์ได้ทดรองจ่ายไป นายสุทัศน์พาโจทก์และนายวินัย งามวสุศิริ ไปหาจำเลยที่บ้านเลขที่ 10 ถนนพัฒน์พงศ์พบจำเลยจึงได้พูดคุยกันถึงเรื่องเงินที่โจทก์ได้ทดรองจ่าย จำเลยรับทราบและบอกว่าให้ทิ้งบัญชีไว้เพื่อคิดดูว่าจำนวนเงินถูกต้องหรือไม่ หลังจากนั้นโจทก์สอบถามจำเลยทางโทรศัพท์ว่าคิดบัญชีเสร็จแล้วหรือยัง จำเลยตอบว่าจะให้นายสุทัศน์มาจัดการให้เรียบร้อยต่อมาวันที่ 31 สิงหาคม 2529 โจทก์ไปหานายสุทัศน์เพื่อจะทวงเงินนายสุทัศน์บอกว่าระยะนี้จำเลยมีปัญหาเรื่องการเงิน นายสุทัศน์จะเป็นผู้รับผิดชอบและขอผ่อนชำระพร้อมกับเขียนบันทึกด้วยลายมือตนเองปรากฏตามบันทึกเอกสารหมาย จ.34 หนี้สินตามบันทึกฉบับนี้เป็นหนี้ที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองจ่ายในโครงการของจำเลย แต่โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ตามที่นายสุทัศน์บันทึกไว้ โจทก์จึงโทรศัพท์ทวงถามจำเลยหลายครั้ง แต่จำเลยก็ไม่ชำระ โจทก์จึงให้ทนายมีหนังสือทวงถามจำเลย จำเลยได้รับหนังสือแล้ว ปรากฏตามหนังสือพร้อมใบตอบรับเอกสารหมาย จ.35 แล้ว จำเลยให้พี่สาวของจำเลยมาติดต่อกับโจทก์ว่าจะชำระเงินให้โดยไม่กำหนดเวลาไว้ โจทก์จึงมีหนังสือทวงถามจำเลยอีกครั้งหนึ่งปรากฏตามหนังสือและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.36ตลอดเวลาที่โจทก์ติดต่อและมีหนังสือทวงถามจำเลย จำเลยไม่เคยปฏิเสธว่าไม่มีหนี้สินต่อกัน และโจทก์มีนายวันชัย กิจสวัสดิ์โอสถเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า โจทก์พูดคุยกับนายสุทัศน์เกี่ยวกับหนี้ที่โจทก์ทดรองจ่ายแล้ว นายสุทัศน์ทำบันทึกตามเอกสารหมาย จ.34โดยพยานลงชื่อเป็นพยานไว้ด้วย กับโจทก์มีนายวินัย งามวสุศิริเบิกความสนับสนุนว่า พยานขับรถยนต์พาโจทก์ไปหานายสุทัศน์เพื่อไปพบกับจำเลย โดยโจทก์นำแฟ้มค่าใช้จ่ายติดตัวไปด้วย พบจำเลยที่ธนาคารพาณิชย์ ถนนพัฒน์พงศ์ โจทก์พูดคุยกับจำเลยเกี่ยวกับเรื่องเงินที่โจทก์ได้ทดรองจ่ายไปเป็นจำนวน 300,000 บาทเศษจำเลยรับปากว่าจะชำระหนี้ให้แต่ขอบัญชีเพื่อตรวจสอบก่อน โจทก์จึงทิ้งบัญชีให้จำเลยไว้ เห็นได้ว่าโจทก์เบิกความเป็นขั้นตอนเชื่อมโยงกันมีเหตุผลโดยมีพยานบุคคลและพยานเอกสารสนับสนุน และโจทก์กระทำการหลายประการต่อเนื่องกันซึ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้ออกเงินทดรองจ่ายจำนวน 320,000 บาทจริง ครั้นเมื่อโจทก์จัดให้มีการทวงถามเงินจำนวนที่ทดรองจ่ายไปยังจำเลยถึง 2 ครั้งตามที่อยู่ซึ่งโจทก์เคยติดต่อกับจำเลยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับก็ปรากฏว่ามีผู้รับหนังสือนี้แต่จำเลยก็หาได้มีหนังสือโต้แย้งจำนวนเงินที่โจทก์ทดรองจ่ายไม่ ทั้ง ๆ ที่จำเลยก็นำสืบโต้เถียงว่าจำเลยไม่เคยตั้งโจทก์เป็นตัวแทน ทำให้ข้อนำสืบของจำเลยที่โต้เถียงจำนวนเงินที่โจทก์ทดรองจ่ายไปไม่มีน้ำหนัก ที่จำเลยฎีกาว่าหากโจทก์ส่งเงินคืนให้จำเลยเป็นจำนวนหลายล้านบาทตามที่โจทก์นำสืบโจทก์ก็น่าจะหักเงินของจำเลยชำระหนี้โจทก์เสียก่อนนั้นโจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าเหตุที่ไม่นำเงินที่ขายบ้านและที่ดินที่จัดสรรได้หักชำระหนี้ที่โจทก์ออกเงินทดรองจ่ายไปก่อนเพราะการโอนขายทุกครั้งจะมีเจ้าหน้าที่ของธนาคารนครหลวงไทย จำกัดซึ่งเป็นผู้รับจำนองที่ดินจากจำเลยทุกโฉนดติดตามมาด้วย เมื่อได้รับเงินค่าซื้อจากลูกค้าแล้วต้องชำระหนี้ให้แก่ธนาคารก่อน แล้วธนาคารจึงจะยอมปลดจำนองและทำการโอนได้ เห็นได้ว่าโจทก์มีเหตุผลที่ฟังได้ในการที่ไม่สามารถนำเงินค่าซื้อขายมาหักหนี้ของโจทก์ได้ ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์มีฐานะไม่ดีเป็นเพียงลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดภักดีวิทยา ซึ่งห้างดังกล่าวยังเป็นหนี้จำเลยด้วยนั้น ก็ปรากฏว่าโจทก์มีอาชีพเป็นทนายความและเป็นตัวแทนดำเนินกิจการจัดสรรที่ดินและปลูกบ้านเพื่อขาย จึงอยู่ในฐานะพอที่จะออกเงินทดรองจ่ายในจำนวน 320,000 บาท ได้ พยานหลักฐานโจทก์น่าเชื่อกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ออกเงินทดรองจ่ายจำนวน 320,000 บาทในกิจการของจำเลยที่เป็นตัวการ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์…”
พิพากษายืน

Share