คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1437/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอื่น ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 นั้น ต้องพิจารณาตามความสมควร ตามความจำเป็น ตามฐานะของผู้ตายกับบิดามารดา ทั้งต้องพิจารณาถึงประเพณีการทำศพตามลัทธินิยมของแต่ละท้องที่ประกอบ และต้องมิใช่รายจ่ายที่ฟุ่มเฟือยจนเกินไป
การใช้จ่ายในการทำอนุสาวรีย์ไว้กระดูกผู้ตายซึ่งเป็นบุตรโจทก์ ค่าขาดรายได้ของโจทก์และค่าจ้างคนเฝ้าบ้านในขณะที่จัดการปลงศพ มิใช่ค่าใช้จ่ายในการปลงศพหรือค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอื่นตามความหมาย แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443
โจทก์ที่ 1 มิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ส่วน โจทก์ที่ 2 เป็นมารดาของผู้ตาย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทั้งสอง ฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะมา 60,000 บาท โดยมิได้แยกเรียกร้อง ว่าโจทก์แต่ละคนขาดไร้อุปการะเท่าใด และได้ความว่าโจทก์ที่ 2 แต่ผู้เดียวมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงิน 60,000 บาท โจทก์ที่ 2 จึงมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะเต็มจำนวน
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นการชำระหนี้ซึ่งไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 จะอุทธรณ์ฎีกาเพียงผู้เดียว เมื่อศาลฎีกาลดค่าเสียหายลงก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบิดามารดาของเด็กชายวีรพันธ์ จำเลยที่ 1ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถในทางการที่จ้างโดยประมาทชนเด็กชายวีรพันธ์ถึงแก่ความตาย ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าปลงศพ 40,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะ60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่าโจทก์ที่ 1 จะเป็นบิดาของเด็กชายวีรพันธ์และมีสิทธิฟ้องคดีหรือไม่ จำเลยที่ 2 ไม่ทราบ เหตุเกิดเพราะความประมาทของเด็กชายวีรพันธ์และโจทก์ไม่เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทน 100,000บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องเฉพาะโจทก์ที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอื่น ๆนั้นจำต้องพิจารณาตามความสมควร ตามความจำเป็น ตามฐานะของผู้ตายกับบิดามารดา ซึ่งต้องพิจารณาถึงประเพณีการทำศพตามลัทธินิยมของแต่ละท้องที่ประกอบ และต้องมิใช่รายจ่ายที่ฟุ่มเฟือยจนเกินไป โจทก์ทั้งสองมีรายได้เดือนละหมื่นบาทเศษถือได้ว่ามีฐานะไม่ยากจน การที่โจทก์ทั้งสองได้จัดการศพเด็กชายวีรพันธ์โดยบำเพ็ญกุศลสวด 3 วัน ฌาปนกิจในวันที่สี่ ทำบุญ 7 วัน และ 100 วันให้ตามลำดับ เป็นการบำเพ็ญกุศลอุทิศให้แก่ผู้ตายอันเป็นการจัดการปลงศพตามประเพณีนิยม ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทำบุญเลี้ยงพระและคนที่มาช่วย จึงเป็นค่าใช้จ่ายในการปลงศพตามสมควร แต่ที่โจทก์ทั้งสองสร้างอนุสาวรีย์ไว้กระดูกของเด็กชายวีรพันธ์ 3,000 บาท ค่าขาดรายได้สำหรับโจทก์ทั้งสองในระหว่างไปจัดการฌาปนกิจศพ 3,540 บาท ค่าจ้างคนเฝ้าบ้านในระหว่างไปจัดการฌาปนกิจศพ 300 บาท กับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ โดยไม่ระบุว่าเป็นค่าใช้จ่ายอะไรเป็นเงิน10,000 บาท นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ค่าใช้จ่ายในการทำอนุสาวรีย์ไว้กระดูกก็ดีค่าขาดรายได้ของโจทก์ทั้งสองก็ดี ค่าจ้างคนเฝ้าบ้านก็ดี กับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่ปรากฏว่าใช้จ่ายเพื่อการใดก็ดี มิใช่ค่าใช้จ่ายในการปลงศพและมิใช่ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอื่นตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายเฉพาะส่วนดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วย

ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1 แล้วค่าขาดไร้อุปการะซึ่งโจทก์ที่ 2 ควรได้รับจึงเหลือเพียง 30,000 บาทนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อโจทก์ที่ 2 ต้องสูญเสียบุตรไปเนื่องจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1ก็ต้องถือว่าโจทก์ที่ 2 ขาดไร้อุปการะไปตามกฎหมาย และที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะมานี้ก็หาได้แยกกันเรียกร้องมาว่า โจทก์แต่ละคนขาดไร้อุปการะคนละเท่าใดไม่ เมื่อได้ความว่าโจทก์ที่ 2 แต่ผู้เดียวมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะและความตายของเด็กชายวีรพันธ์ทำให้โจทก์ที่ 2 ขาดไร้อุปการะเป็นจำนวนเงิน60,000 บาท โจทก์ที่ 2 จึงมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะเต็มจำนวน

อนึ่งคดีนี้จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ฎีกา แต่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นการชำระหนี้ซึ่งไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2จะเป็นผู้อุทธรณ์ฎีกาเพียงผู้เดียว ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบด้วยมาตรา 247

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 2เป็นเงิน 83,160 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share