แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องเดิมบรรยายว่า “ลงหุ้นแชร์กันไว้คนละ 200 บาท ต่อเดือน” โจทก์ขอแก้ในวันชี้สองสถาน เป็นว่า “ลงหุ้นแชร์กันไว้ คนละ300 บาทต่อเดือน” ปรากฏว่าฟ้องเดิมของโจทก์บรรยายมาชัดแจ้งว่าจำเลยประมูลแชร์ได้โดยให้ดอกเบี้ย 220 บาท จำเลยจึงต้องส่งเงินแชร์งวดต่อ ๆ ไปเดือนละ 520 บาท เพิ่งค้างส่ง 3 เดือนเป็นเงิน 1,560 บาท ดังนี้ เห็นได้ชัดว่าโจทก์พิมพ์ตัวเลขผิดพลาดคือพิมพ์เลข 3 เป็นเลข 2 ไป จึงเป็นการขอแก้คำผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ศาลย่อมมีอำนาจให้แก้ได้เสมอ กรณีไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระเงินแชร์ที่ค้างจำนวน ๑,๕๖๐ บาทแก่โจทก์ ฯลฯ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่เคยตั้งวงแชร์ จำเลยไม่เป็นลูกแชร์
ในวันชี้สองสถาน โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้อง โดยขอแก้จำนวนเงินแชร์จากเดือนละ ๒๐๐ บาท เป็นเดือนละ ๓๐๐ บาท อ้างว่าพิมพ์ผิดศาลชั้นต้นสั่งอนุญาต และกำหนดหน้าที่นำสืบให้โจทก์นำสืบก่อน และไม่อนุญาตให้จำเลยสืบแก้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าแชร์ ๑,๐๔๐ บาทแก่โจทก์คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นให้โจทก์แก้ฟ้องได้ ชอบแล้วคำให้การจำเลยชัดแจ้งควรให้สืบพยานจำเลยได้ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้สืบพยานจำเลยจนสิ้นกระแสความแล้วพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ปัญหาที่ว่า การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องในวันชี้สองสถานชอบหรือไม่ นั้น ปรากฏว่าในวันชี้สองสถาน โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องที่ว่า”ลงหุ้นแชร์กันไว้คนละ ๒๐๐ บาทต่อเดือน” เป็น “ลงหุ้นแชร์กันไว้คนละ ๓๐๐ บาทต่อเดือน” ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นการแก้ไขข้อผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ กล่าวคือถ้าหากโจทก์กับพวกตกลงกันเล่นแชร์กันมือละ ๒๐๐ บาท (ตามฟ้องเดิม) จำเลยประมูลให้ดอกเบี้ย ๒๒๐ บาท จำเลยก็ต้องส่งเงินแชร์พร้อมดอกเบี้ยคราวต่อไปเป็นเงินเดือนละ ๔๒๐ บาท แต่โจทก์บรรยายฟ้องมาชัดแจ้งว่าจำเลยส่งเงินแชร์งวดต่อ ๆ มาเดือนละ ๕๒๐ บาท เพิ่งค้างส่งตั้งแต่กุมภาพันธ์ ๒๕๑๖ ถึงวันฟ้อง ๓ เดือน เป็นเงิน ๑,๕๖๐ บาท คือ แทนที่จะเป็นเล่นแชร์กันมือละ ๓๐๐ บาท กลับพิมพ์เป็น ๒๐๐ บาท ผิดเลข ๓ เป็นเลข ๒ ไปตัวเดียวเห็นชัดว่าพิมพ์ผิดพลาดศาลย่อมมีอำนาจให้แก่ได้เสมอ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘๐
พิพากษายืน