คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14351/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เช็คพิพาททั้งสองฉบับ เช็คที่ออกเพื่อชำระเงินค่าเสื้อแจกเกตให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. กรณีจึงถือว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. เป็นผู้ทรงเช็คพิพาท เมื่อเช็คดังกล่าวธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ย่อมเป็นผู้เสียหายที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท มิใช่โจทก์ร่วม ถึงแม้จำเลยจะได้สั่งซื้อเสื้อแจกเกตจากโจทก์ร่วมและโจทก์ร่วมจะมีส่วนเป็นเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ด้วยก็ตาม แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ก็เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมในฐานะส่วนตัวจึงไม่อยู่ในฐานะผู้ทรงเช็คพิพาท และมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจร้องทุกข์ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยได้ การที่โจทก์ร่วมเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลย โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ได้มอบอำนาจให้โจทก์ร่วมดำเนินการแทน จึงถือได้ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจทำการสอบสวนการกระทำความผิดของจำเลย การที่พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนมานั้น จึงเป็นการสอบสวนที่มิชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 341 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงินที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายจำนวน 3,163,610 บาท
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางวันดี ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1), (2) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 2 กระทง จำคุก 12 เดือน ข้อหาอื่นและคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ร่วมมีร้านจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปตั้งอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี และมีโรงงานผลิตเสื้อผ้าชื่อว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกชัย (อุดร 1987) ตั้งอยู่ที่จังหวัดอุดรธานีเช่นเดียวกัน โดยมีนายเอกชัย สามีโจทก์ร่วมเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ นายสมชาย เป็นน้องชายโจทก์ร่วมและเป็นตัวแทนของโจทก์ร่วมในการติดต่อซื้อขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ร้านเอช.เอ็ม.ยีนส์ สั่งซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปประเภทเสื้อแจกเกตจากโจทก์ร่วม และมีการสั่งจ่ายเช็คพิพาทของจำเลยเป็นการชำระค่าสินค้า ต่อมาธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน สำหรับคดีความผิดฐานฉ้อโกงคู่ความไม่อุทธรณ์จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีสำหรับจำเลยขึ้นสู่ศาลฎีกาเฉพาะความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 คดีจึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีโจทก์ร่วม นายสมชาย นายชาญชัย และพันตำรวจโทสมบัติ เบิกความเป็นพยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่า โจทก์ร่วมมีร้านจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปตั้งอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี และมีโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปชื่อ ห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกชัย (อุดร 1987) ตั้งอยู่ที่จังหวัดเดียวกัน นายสมชายเป็นน้องชายโจทก์ร่วม มีร้านจำหน่ายเสื้อผ้าตั้งอยู่ที่ตลาดโบ๊เบ๊ กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้นายสมชายยังเป็นตัวแทนในการขายเสื้อผ้าให้แก่โจทก์ร่วมอีกด้วย ร้านจำเลยใช้ชื่อว่า เอช.เอ็ม.ยีนส์ จำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปประเภทยีน มีจำเลย นางธัญญาวัลย์และนายเกียรติศักดิ์ เป็นหุ้นส่วน ร้านตั้งอยู่ที่อาคารใบหยก 2 ชั้นสอง กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ประมาณเดือนตุลาคม 2545 นายสมชายติดต่อค้าขายกับร้านจำเลยตลอดมา และมีการสั่งซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากโจทก์ร่วมโดยผ่านนายสมชายประมาณ 10 ครั้ง บางครั้งชำระด้วยเงินสด บางครั้งก็ชำระด้วยเช็ค ร้านจำเลยไม่มีปัญหาเรื่องการชำระเงิน ต่อมาประมาณเดือนธันวาคม 2546 ร้านจำเลยสั่งซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปประเภทเสื้อแจกเกตจากนายสมชาย นายสมชายได้แจ้งให้โจทก์ร่วมจัดหาและส่งเสื้อผ้าสำเร็จรูปดังกล่าวให้แก่ร้านจำเลย เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2546 นายสมชายนำเสื้อผ้าสำเร็จรูปมาส่งให้แก่ร้านจำเลย เมื่อได้รับแล้ว จำเลยออกเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาจารุเมือง จำนวน 2 ฉบับ สั่งจ่ายวันที่ 29 มกราคม 2547 และวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2547 เพื่อชำระค่าเสื้อผ้าสำเร็จรูปดังกล่าว โดยมอบให้แก่นายสมชาย ต่อมานายสมชายมอบเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ร่วม ครั้นเมื่อถึงกำหนดสั่งจ่ายโจทก์ร่วมนำเช็คพิพาทเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาหัวเม็ด ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วมและนายเอกชัย สามีโจทก์ร่วม เพื่อเรียกเก็บเงินตามวิธีการของธนาคาร ต่อมาธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทโดยให้เหตุผลว่า บัญชีปิดแล้ว หลังจากนั้นโจทก์ร่วมและนายสมชายได้ติดตามทวงถามจำเลย แต่จำเลยเพิกเฉย ไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงร้องทุกข์มอบคดีให้พันตำรวจโทสมบัติ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันดำเนินคดีแก่จำเลย ในข้อหาออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค หลังจากที่พันตำรวจโทสมบัติสอบสวนนายชาญชัย เจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาจารุเมือง ได้ความว่า บัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยปิดแล้ว ก่อนวันที่จำเลยออกเช็คพิพาท พันตำรวจโทสมบัติได้แจ้งให้โจทก์ร่วมทราบ โจทก์ร่วมจึงร้องทุกข์มอบคดีให้พันตำรวจโทสมบัติดำเนินคดีจำเลยข้อหาฉ้อโกง ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ เห็นว่า ก่อนเกิดเหตุ ร้านเอช.เอ็ม.ยีนส์ สั่งซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากโจทก์ร่วมผ่านทางนายสมชายน้องชายโจทก์ร่วมประมาณ 10 ครั้ง ปรากฏว่าไม่มีปัญหาเรื่องการชำระเงินค่าสินค้า แต่การซื้อขายเสื้อผ้าสำเร็จรูประหว่างร้านเอช.เอ็ม.ยีนส์และโจทก์ร่วมเริ่มมีปัญหาการชำระเงินค่าสินค้าเมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2546 กล่าวคือ ร้านเอช.เอ็ม.ยีนส์ สั่งซื้อเสื้อแจกเกตประมาณ 6,000 ตัว จากโจทก์ร่วมเป็นเงินจำนวน 3,163,610 บาท โดยร้านเอช.เอ็ม.ยีนส์ ได้ชำระเงินค่าสินค้าดังกล่าวเป็นเช็คพิพาทในคดีนี้ และในเดือนมกราคม 2547 ร้านเอช.เอ็ม.ยีนส์ ได้สั่งซื้อกางเกงยีนจากโจทก์ร่วมโดยชำระเงินค่าสินค้าดังกล่าวเป็นเช็คโดยมีนายเกียรติศักดิ์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งของร้านเอช.เอ็ม.ยีนส์ เป็นผู้สั่งจ่าย ต่อมาธนาคารตามเช็คดังกล่าวปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จึงได้ฟ้องนายเกียรติศักดิ์เป็นจำเลยในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 396/2548 ของศาลแขวงดุสิต ซึ่งในคดีดังกล่าวโจทก์ร่วมได้เบิกความต่อศาลว่า โจทก์ร่วมประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเสื้อผ้าสำเร็จรูปประเภทกางเกงยีน เสื้อแจกเกตและกางเกงกีฬาขาสั้น มีโรงงานชื่อ ห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกชัย (อุดร 1987) ตั้งอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี ร้านเอช.เอ็ม.ยีนส์ เป็นลูกค้าของโจทก์ร่วม มีนายเกียรติศักดิ์ นางธัญญาวัลย์และนางดรรชนี (จำเลยในคดีนี้) เป็นหุ้นส่วน ร้านเอช.เอ็ม.ยีนส์ ซื้อขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปกับห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกชัย (อุดร 1987) ของโจทก์ร่วมมาหลายครั้ง เมื่อประมาณปลายเดือนมกราคม 2547 นายสมชายได้โทรศัพท์สั่งกางเกงยีนโดยบอกว่ามีคำสั่งซื้อมาจากร้านเอช.เอ็ม.ยีนส์ เป็นกางเกงยีนยี่ห้อไทเกอร์ รุ่น 526 ประมาณ 620 ตัว และรุ่น 535 ประมาณ 1,460 ตัว รวมเป็นเงิน 471,100 บาท ทางห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกชัย (อุดร 1987) จึงได้ผลิตกางเกงยีนตามจำนวนที่สั่งและส่งให้แก่นายสมชาย ต่อมานายสมชายได้ส่งกางเกงยีนดังกล่าวให้แก่ร้านเอช.เอ็ม.ยีนส์ โดยนายเกียรติศักดิ์ได้สั่งจ่ายเช็คตามจำนวนเงินที่สั่งซื้อ เช็คดังกล่าวลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2547 เมื่อเช็คถึงกำหนดสั่งจ่าย ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จากคำเบิกความของโจทก์ร่วมดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การสั่งซื้อกางเกงยีนของร้านเอช.เอ็ม.ยีนส์ กระทำในเดือนมกราคม 2547 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ร้านเอช.เอ็ม.ยีนส์ สั่งซื้อเสื้อแจกเกตประมาณ 6,000 ตัว จากโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเหตุที่พิพาทกันในคดีนี้ โจทก์ร่วมมีโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปประเภทกางเกงยีนและเสื้อแจกเกต การที่ร้านเอช.เอ็ม.ยีนส์ สั่งซื้อกางเกงยีนจากโจทก์ร่วมนั้น โจทก์ร่วมได้เบิกความยืนยันในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 396/2548 ของศาลแขวงดุสิต ว่า เป็นการซื้อกางเกงยีนจากห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกชัย (อุดร 1987) ของโจทก์ร่วม แต่ในคดีนี้โจทก์ร่วมกลับเบิกความว่า ร้านเอช.เอ็ม.ยีนส์ สั่งซื้อเสื้อแจกเกตจากโจทก์ร่วม โดยโจทก์ร่วมสั่งซื้อเสื้อแจกเกตดังกล่าวมาจากผู้อื่น โดยใช้เงินส่วนตัว ไม่ใช่สินค้าที่ผลิตจากโรงงานของห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกชัย (อุดร 1987) เหตุที่โจทก์ร่วมเบิกความเช่นนี้น่าจะเนื่องมาจากคดีหมายเลขแดงที่ 396/2548 ของศาลแขวงดุสิต ดังกล่าว ศาลได้พิพากษายกฟ้องโจทก์เนื่องจากกางเกงยีนที่ร้านเอช.เอ็ม.ยีนส์ สั่งซื้อจากโจทก์ร่วมเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกชัย (อุดร 1987) เช็คที่นายเกียรติศักดิ์สั่งจ่ายจึงเป็นการชำระหนี้ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกชัย (อุดร 1987) ห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวจึงเป็นผู้ทรงเช็คและเป็นผู้เสียหาย เมื่อโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์เพื่อให้ดำเนินคดีแก่นายเกียรติศักดิ์ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 396/2548 ของศาลแขวงดุสิต โดยไม่ได้รับมอบอำนาจจากห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกชัย (อุดร 1987) กรณีจึงถือว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกชัย (อุดร 1987) ในฐานะผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยชอบ พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวน และโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 396/2548 ของศาลแขวงดุสิต จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2548 แต่โจทก์ร่วมได้เบิกความในคดีนี้เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2548 หลังจากที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 396/2548 ของศาลแขวงดุสิต แล้ว กรณีจึงเชื่อว่า โจทก์ร่วมได้เบิกความเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงใหม่เป็นว่า ร้านเอช.เอ็ม.ยีนส์ สั่งซื้อเสื้อแจกเกตดังกล่าวจากโจทก์ร่วม โดยโจทก์ร่วมอ้างว่าไปซื้อเสื้อแจกเกตดังกล่าวมาจากผู้อื่น ไม่ใช่สินค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกชัย (อุดร 1987) แต่โจทก์ร่วมก็ไม่ได้เบิกความให้ชัดเจนว่า ได้ไปซื้อเสื้อแจกเกตดังกล่าวมาจากผู้ผลิตรายใดหรือจากโรงงานใด อีกทั้งเสื้อแจกเกตที่ร้านเอช.เอ็ม.ยีนส์ สั่งซื้อจากโจทก์ร่วมเป็นจำนวนถึง 6,000 ตัว การที่โจทก์ร่วมไปสั่งซื้อเสื้อแจกเกตดังกล่าวมาจากผู้อื่นย่อมทำให้ต้นทุนของสินค้าสูงขึ้น ทั้งที่โจทก์ร่วมมีโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปประเภทกางเกงยีนและเสื้อแจกเกตอยู่แล้ว การที่โจทก์ร่วมไปซื้อเสื้อแจกเกตดังกล่าวจากผู้ผลิตรายอื่นจึงเป็นเรื่องที่ผิดปกติ อีกทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ร่วมได้ฟ้องนางธัญญาวัลย์ นายเกียรติศักดิ์ และจำเลยในคดีนี้ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของร้านเอช.เอ็ม.ยีนส์ เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับเช็คที่พิพาทในคดีนี้ และเช็คที่นายเกียรติศักดิ์ได้สั่งจ่ายในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 396/2548 ของศาลแขวงดุสิต โดยขอให้บุคคลทั้งสามร่วมรับผิดชำระเงินตามเช็คดังกล่าว ซึ่งในคดีดังกล่าวนั้น โจทก์ร่วมนำสืบว่า โจทก์ร่วมประกอบอาชีพค้าขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยซื้อมาจากโรงงานที่ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปของโจทก์ร่วมเองที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดอุดรธานีและซื้อมาจากที่อื่น ปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ในคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 322/2549 ของศาลแพ่ง เอกสารแนบท้ายฎีกาของโจทก์ร่วม จะเห็นได้ว่า ข้อเท็จจริงในคดีหมายเลขแดงที่ 322/2549 ของศาลแพ่ง โจทก์ร่วมได้นำสืบเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงอีกเป็นว่า โจทก์ร่วมซื้อสินค้าประเภทเสื้อแจกเกตและกางเกงยีนจากโรงงานของตนเอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า โจทก์ร่วมพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงเพื่อแสดงให้เห็นว่า เสื้อแจกเกตที่พิพาทกันในคดีนี้ มิใช่สินค้าที่ผลิตจากห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกชัย (อุดร 1987) แต่ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบดังกล่าวก็เป็นการขัดกับการที่โจทก์ร่วมได้เบิกความไปก่อนแล้วในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 396/2548 ของศาลแขวงดุสิต ที่เบิกความว่า กางเกงยีนที่ร้านเอช.เอ็ม.ยีนส์ สั่งซื้อนั้นผลิตจากห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกชัย (อุดร 1987) จึงเห็นได้ว่า โจทก์ร่วมเบิกความถึงสินค้าที่ร้านเอช.เอ็ม.ยีนส์ สั่งซื้อจากโจทก์ร่วมมีแหล่งที่มาแตกต่างกัน เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่า โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของสินค้าดังกล่าวด้วยตนเอง มิใช่สินค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกชัย (อุดร 1987) และทำให้โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายจากการที่ไม่ได้รับชำระเงินตามเช็ค การเบิกความที่แตกต่างกันดังกล่าวจึงนับว่าเป็นพิรุธอย่างยิ่งและไม่น่าเชื่อถือ กรณีจึงเชื่อว่า เสื้อแจกเกตที่ร้านเอช.เอ็ม.ยีนส์ สั่งซื้อจากโจทก์ร่วม เป็นสินค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกชัย (อุดร 1987) นอกจากนั้นยังจะเห็นได้ว่า โจทก์ร่วมได้นำเช็คพิพาททั้งสองฉบับในคดีนี้เข้าเรียกเก็บเงินจากบัญชีของนายเอกชัย สามีโจทก์ร่วม ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกชัย (อุดร 1987) ย่อมเป็นการส่อแสดงให้เห็นว่า เช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกชัย (อุดร 1987) ถึงแม้โจทก์ร่วมจะอ้างว่า บัญชีดังกล่าวเป็นบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วมและนายเอกชัย แต่โจทก์ร่วมก็ไม่ได้นำเอกสารมาแสดงให้เห็นว่า บัญชีเงินฝากที่โจทก์ร่วมนำเช็คพิพาทเข้าเรียกเก็บเงินเป็นบัญชีที่โจทก์ร่วมและนายเอกชัยเป็นเจ้าของบัญชีร่วมกัน ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงเชื่อว่า สินค้าเสื้อแจกเกตที่ร้านเอช.เอ็ม.ยีนส์ สั่งซื้อจากโจทก์ร่วมเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกชัย (อุดร 1987) การที่ร้านเอช.เอ็ม.ยีนส์ ชำระเงินค่าเสื้อแจกเกตดังกล่าวด้วยเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จึงเป็นการชำระเงินค่าสินค้าดังกล่าวให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกชัย (อุดร 1987) กรณีจึงถือว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกชัย (อุดร 1987) เป็นผู้ทรงเช็คพิพาท เมื่อเช็คดังกล่าวธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกชัย (อุดร 1987) ย่อมเป็นผู้เสียหายที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท มิใช่โจทก์ร่วม และถึงแม้โจทก์ร่วมจะมีส่วนเป็นเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกชัย (อุดร 1987) ด้วยก็ตาม แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกชัย (อุดร 1987) ก็เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมในฐานะส่วนตัวจึงไม่อยู่ในฐานะผู้ทรงเช็คพิพาท และมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจร้องทุกข์ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยได้ การที่โจทก์ร่วมเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลย โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกชัย (อุดร 1987) ได้มอบอำนาจให้โจทก์ร่วมดำเนินการแทน จึงถือได้ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกชัย (อุดร 1987) ไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจทำการสอบสวนการกระทำความผิดของจำเลย การที่พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนมานั้น จึงเป็นการสอบสวนที่มิชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น สำหรับฎีกาของโจทก์ร่วมนั้น เมื่อนางวันดีไม่ใช่ผู้เสียหาย ย่อมไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ และไม่มีสิทธิที่จะฎีกาได้เช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้
พิพากษายืน ให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของนางวันดี และยกฎีกาของนางวันดี

Share