คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14291/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ปัญหาว่า โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ก็ย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 บัญญัติว่า “เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก…” โจทก์ในฐานะเจ้าของรวมแต่ผู้เดียวย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยโดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของรวมรายอื่นอีก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ประเด็นว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยโดยชอบแล้วหรือไม่นั้นไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ จำเลยย่อมไม่อาจยกขึ้นอุทธรณ์ได้
จำเลยให้การโดยบรรยายมาในคำให้การข้อ 3 ว่า จำเลยได้เข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2529 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ก็โดยที่ดินพิพาทและบริเวณใกล้เคียงที่ดินพิพาทเป็นที่รกร้างว่างเปล่า สภาพของที่ดินเป็นที่ลุ่ม มีน้ำฝนขังในหน้าฝนและแห้งแล้งในหน้าแล้ง มีต้นหญ้ากกต้นวัชพืชขึ้นรกเต็มพื้นที่ ไม่มีการทำประโยชน์ในที่ดินแต่ประการใด จำเลยได้สอบถามชาวบ้านใกล้เคียงต่างบอกว่าไม่เห็นมีใครทำประโยชน์และไม่ทราบว่าเป็นที่มีเจ้าของ จำเลยเห็นว่าสภาพของที่ดินพอเป็นที่เลี้ยงสัตว์ได้ถ้าได้ถากถางต้นหญ้าต้นไม้ที่ขึ้นรกออก จำเลยจึงได้เข้าไปทำประโยชน์ โดยไม่ได้ขออนุญาตผู้ใดและไม่มีผู้ใดขัดขวางห้ามปราม ตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย โดยจำเลยเป็นผู้แผ้วถางที่ดินพิพาทซึ่งในขณะนั้นยังเป็นที่รกร้างว่างเปล่า แล้วเข้าครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ปี 2529 การที่จำเลยให้การในตอนหลังว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์จึงขัดกับคำให้การในตอนแรก รูปคดีตามที่โจทก์ฟ้องและจำเลยให้การดังกล่าวจึงไม่มีประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะรับวินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฎีกาของจำเลยในประเด็นการครอบครองปรปักษ์ จึงเป็นฎีกาต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม)
จำเลยให้การในตอนหนึ่งว่า โจทก์ได้แสดงความเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาท เมื่อปี 2542 พร้อมกับแจ้งให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท แต่จำเลยไม่ยอมออกไป ตามคำให้การดังกล่าว แม้จะถือว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แต่เมื่อนับตั้งแต่วันดังกล่าวจนถึงวันฟ้องก็ยังไม่ครบ 10 ปี จำเลยย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารพร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 523 ถึง 526 ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี และที่ดินโฉนดเลขที่ 453 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ของโจทก์ตามแผนที่ที่ดินสังเขปในกรอบสีแดงและสีเขียว และให้จำเลยส่งมอบที่ดินแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 6,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจะออกไปจากที่ดินและส่งมอบที่ดินให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความอ้างว่า ผู้ร้องสอดครอบครองทำประโยชน์โดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาทบางส่วนเกินกว่าสิบปีจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1)
โจทก์ยื่นคำให้การแก้คำร้องสอดขอให้ยกคำร้องสอด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 523 ถึง 526 ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี และที่ดินโฉนดเลขที่ 453 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ตามแผนที่ในกรอบสีแดงและสีเขียว และให้จำเลยส่งมอบที่ดินในสภาพเรียบร้อย กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 4,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะออกจากที่ดินหรือส่งมอบที่ดินคืนแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความให้ 20,000 บาท ให้ยกคำร้องของผู้ร้องสอด ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับผู้ร้องสอดให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 523 ถึง 526, 585, 711 และ 642 ถึง 645 ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี และที่ดินโฉนดเลขที่ 453 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยได้รับมรดกมาจากนายแผน ที่ดินพิพาทส่วนแรกเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ อยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 523 และ 524 และบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 525 และ 526 ส่วนที่สองเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่เช่นกัน เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 453
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ก็ย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ซึ่งในประเด็นนี้จำเลยฎีกาโดยสรุปว่า โจทก์เป็นเพียงเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยไม่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของรวมคนอื่นเป็นการไม่ชอบ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 บัญญัติว่า “เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก…” โจทก์ในฐานะเจ้าของรวมแต่ผู้เดียวย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยโดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของรวมรายอื่นอีก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการต่อไปว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่อุทธรณ์ว่า การบอกเลิกสัญญาเช่ากระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า ประเด็นว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยโดยชอบแล้วหรือไม่นั้นไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ จำเลยย่อมไม่อาจยกขึ้นอุทธรณ์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
สำหรับที่จำเลยฎีกาว่า ที่ดินพิพาททั้งสองส่วนเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ ซึ่งจำเลยครอบครองทำประโยชน์อยู่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2527 นายสง่า และนางอุไร เช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 523 ถึง 526, 585, 711 และ 642 ถึง 645 ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี และที่ดินโฉนดเลขที่ 453 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี จากผู้จัดการมรดกของนายแผน รวมเนื้อที่ประมาณ 120 ไร่ ต่อมาปี 2529 นายสง่าและนางอุไรอนุญาตให้จำเลยเข้าไปอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 523 และ 524 และบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 525 และ 526 รวมเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ ต่อมาปี 2534 นายสง่าและนางอุไรอนุญาตให้จำเลยขุดบ่อปลาในที่ดินโฉนดเลขที่ 453 ทางด้านทิศตะวันตก เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ จำเลยจึงอยู่ในที่ดินพิพาทในฐานะบริวารของนายสง่าและนางอุไร หลังจากนั้นเมื่อปี 2542 นายสง่าและนางอุไรแจ้งว่าไม่ประสงค์ที่จะเช่าที่ดินในส่วนที่พิพาทกันในคดีนี้อีกต่อไป โจทก์ในฐานะเจ้าของรวมในที่ดินแปลงดังกล่าวข้างต้นไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่ในที่ดินอีกต่อไป จึงขอให้บังคับจำเลยพร้อมบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไป จำเลยให้การโดยบรรยายมาในคำให้การข้อ 3 ว่า จำเลยได้เข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2529 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ก็โดยที่ดินพิพาทและบริเวณใกล้เคียงที่ดินพิพาทเป็นที่รกร้างว่างเปล่า สภาพของที่ดินเป็นที่ลุ่ม มีน้ำฝนขังในหน้าฝนและแห้งแล้งในหน้าแล้ง มีต้นหญ้ากก ต้นวัชพืชขึ้นรกเต็มพื้นที่ ไม่มีการทำประโยชน์ในที่ดินแต่ประการใด จำเลยได้สอบถามชาวบ้านใกล้เคียงต่างบอกว่าไม่เห็นมีใครทำประโยชน์และไม่ทราบว่าเป็นที่มีเจ้าของ จำเลยเห็นว่าสภาพของที่ดินพอเป็นที่เลี้ยงสัตว์ได้ถ้าได้ถากถางต้นหญ้าต้นไม้ที่ขึ้นรกออก จำเลยจึงได้เข้าไปทำประโยชน์ โดยไม่ได้ขออนุญาตผู้ใดและไม่มีผู้ใดขัดขวางห้ามปราม ตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย โดยจำเลยเป็นผู้แผ้วถางที่ดินพิพาทซึ่งในขณะนั้นยังเป็นที่รกร้างว่างเปล่า แล้วเข้าครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ปี 2529 การที่จำเลยให้การในตอนหลังว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์จึงขัดกับคำให้การในตอนแรก รูปคดีตามที่โจทก์ฟ้องและจำเลยให้การดังกล่าวจึงไม่มีประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะรับวินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฎีกาของจำเลยในประเด็นการครอบครองปรปักษ์ จึงเป็นฎีกาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนที่จำเลยให้การในตอนหนึ่งว่า โจทก์ได้แสดงความเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาทเมื่อปี 2542 พร้อมกับแจ้งให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท แต่จำเลยไม่ยอมออกไป ตามคำให้การดังกล่าว แม้จะถือว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แต่เมื่อนับตั้งแต่วันดังกล่าวจนถึงวันฟ้องก็ยังไม่ครบ 10 ปี จำเลยย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share