คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1427/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เงินค่าภาษีที่ นายจ้าง จ่ายแทนลูกจ้างเป็นประจำทุก เดือน แต่เป็นเงินที่ นายจ้าง จ่ายให้แก่ กรมสรรพากร มิได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างการจ่ายค่าภาษีแทนลูกจ้างจึงเป็นเพียงสวัสดิการอย่างหนึ่งที่ นายจ้าง ช่วย แบ่งเบาภาระการเสียภาษีให้แก่ลูกจ้าง มิใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน ดังนี้เงินค่าภาษีจึงไม่ใช่ค่าจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยทำงานตำแหน่งกรรมการผู้จัดการทั่วไป เงินเดือนสุดท้ายเดือนละ 120,000 บาทจำเลยก็บังคับให้โจทก์ลาออกจากงาน โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดจำเลยไม่ได้จ่ายเงินใด ๆ ตามกฎหมายให้แก่โจทก์ ในระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยนั้น โจทก์ได้กู้ยืมเงินสวัสดิการจากจำเลยในวันที่โจทก์ลาออก โจทก์จะต้องชำระให้จำเลยอีก 676,210.07 บาทจำเลยตกลงกับโจทก์ว่าเงินที่โจทก์จะมีสิทธิได้รับตามกฎหมายนั้นจำเลยจะนำไปหักกับเงินที่โจทก์เป็นหนี้จำเลยดังกล่าวข้างต้นก่อนถ้าโจทก์ลาออกจำเลยจะให้เงินโจทก์อีก 1 ล้านบาท แต่เมื่อโจทก์ลาออกจำเลยไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงกับโจทก์แต่อย่างใด กลับฟ้องเรียกเงินกู้จากโจทก์ที่ศาลแพ่ง จำเลยต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์จำนวน 120,000 บาท เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานให้โจทก์อีกจำนวน 612,000 บาท และเงินโบนัสหรือเงินค่าตอบแทนประจำปีให้แก่โจทก์ จำนวน 180,000 บาท จำเลยได้บอกเลิกจ้างโจทก์อย่างกะทันหันโดยเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง โจทก์จึงขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 1 ล้านบาท ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้เงินแก่โจทก์รวม 1,912,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้ลาออกจากงานโดยความสมัครใจขณะโจทก์ออกจากงานโจทก์มีตำแหน่งเป็นกรรมการและผู้จัดการทั่วไปได้รับเงินเดือนสุดท้าย 60,000 บาท โจทก์ได้ลาออกจากงานด้วยความสมัครใจ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย และจำเลยไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินโบนัสหรือเงินค่าตอบแทนประจำปีเนื่องจากตามระเบียบของจำเลยพนักงานคนใดจะได้รับเงินโบนัสหรือค่าตอบแทนประจำปีหรือไม่เป็นดุลพินิจของจำเลยที่จะพิจารณา ในปี พ.ศ. 2530 โจทก์ทำงานกับจำเลยไม่ถึงสิ้นปีตามระเบียบ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสดังกล่าว
ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยชำระเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานให้โจทก์เป็นเงิน 288,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย คำขออื่นของโจทก์ให้ยกเสีย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลย แต่ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ (1) ถึง (3) คงรับแต่อุทธรณ์ข้อ (4) ถึง (8)
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ในข้อ (4)ว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ 120,000 บาท ไม่ใช่ 60,000บาท ตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง โดยอ้างว่าเงินค่าภาษีที่จำเลยออกให้โจทก์เดือนละ 27,280.41 บาท เป็นค่าจ้าง และโจทก์ยังได้รับเงินค่าจ้างจากบริษัทแม่ที่ฮ่องกงเดือนละ 11,000 บาทนอกจากนี้เงินค่าน้ำมันรถ เงินค่าเลี้ยงรับรองและเงินค่าใช้จ่ายส่วนตัวก็เป็นค่าจ้าง เมื่อรวมกันแล้วโจทก์ได้รับเงินเดือนสุดท้ายไม่น้อยกว่าเดือนละ 120,000 บาท เห็นว่า เงินค่าภาษีที่จำเลยออกให้โจทก์นั้น แม้มีการจ่ายแทนโจทก์เป็นประจำทุกเดือน แต่เป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่กรมสรรพากร มิได้จ่ายให้แก่โจทก์ การที่จำเลยจ่ายค่าภาษีแทนโจทก์ เป็นเพียงสวัสดิการอย่างหนึ่งที่ช่วยแบ่งเบาภาระการเสียภาษีให้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างไม่ใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเงินภาษีไม่ใช่ค่าจ้างชอบแล้ว…”
พิพากษายืน

Share