คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1424/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทราบว่าลายมือชื่อที่จำเลยอ้างว่าปลอม ความจริงเป็นลายมือชื่อของจำเลยซึ่งลงชื่อไว้ มิใช่ลายมือชื่อปลอม การที่จำเลยแจ้งว่ามีการปลอมลายมือชื่อจึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดทางอาญาแก่พนักงานสอบสวนโดยรู้อยู่แล้วว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 173 และเมื่อจำเลยเอาความเป็นเท็จฟ้องโจทก์ต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา การกระทำของจำเลยจึงเป็นการฟ้องเท็จอันเป็นความผิดตามมาตรา 175 อีกกระทงหนึ่ง ส่วนความผิดตามมาตรา 174 วรรคสอง ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยแจ้งความเท็จเพื่อจะแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษ จำเลยมิได้ยืนยันว่าผู้ที่ปลอมเอกสารคือโจทก์ โดยจำเลยแจ้งความเพียงว่าจำเลยสงสัยโจทก์ ยังไม่พอฟังว่าจำเลยมีเจตนาแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษ ไม่อาจเป็นความผิดตามมาตรานี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 172, 173,174, 175 และ 181
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173 ประกอบมาตรา 174 วรรคสอง, 175 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานแจ้งความเท็จแก่พนักงานสอบสวน จำคุก 2 ปี ฐานฟ้องเท็จ จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 4 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ที่จำเลยเบิกความขณะลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัดตามเอกสารหมาย ล.7 แผ่นที่ 3 ในช่องลายมือชื่อนั้นมีรอยลบตรงช่องลายมือชื่อ แล้วให้จำเลยลงลายมือชื่อด้านล่างใต้เส้นไข่ปลาจึงเป็นเรื่องที่จำเลยเบิกความเท็จโดยปราศจากสงสัย เนื่องจากจำเลยหลังจากตรวจสอบเอกสารที่สำนักงานทะเบียนแล้วจำเลยพยายามลงลายมือชื่อใหม่ในเอกสารหมาย ล.7 แผ่นที่ 3 เพื่อให้แตกต่างกับลายมือชื่อของจำเลยเดิมซึ่งลงไว้ในเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 3 ว่าเป็นลายมือชื่อของจำเลยอย่างเดียวกันกับที่จำเลยลงลายมือชื่อต่อหน้าศาลเพื่อจะต้องการส่งไปตรวจพิสูจน์ที่กองตรวจพิสูจน์หลักฐานว่าเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 3 มิใช่ลายมือชื่อของจำเลย เนื่องจากเป็นการเขียนลายมือชื่อคนละลักษณะเพื่อให้แตกต่างจากลายมือชื่อของจำเลยเดิมนั่นเอง จากจุดนี้เองแสดงให้เห็นว่าจำเลยนำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จเพื่อให้ศาลหลงเชื่อเนื่องจากจำเลยไม่ทราบว่าต้นฉบับเอกสารมีการถ่ายลงไมโครฟิล์มและสแกนเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วย ซึ่งเป็นความเขลาของจำเลยเอง หากจำเลยทราบมาก่อนเช่นนั้นเชื่อว่าจำเลยคงไม่ทำเช่นนี้
ในเรื่องลายมือชื่อของจำเลย จำเลยเบิกความ จำเลยเข้าทำงานในบริษัทจัดหางาน สยามโอเวอร์ซีส์ รีครูทเมนท์ จำกัด เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจเพียงฉบับเดียวตามเอกสารหมาย ล.5 ศาลตรวจดูแล้วปรากฏว่าเอกสารหมาย ล.5 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2538 ซึ่งเป็นวันก่อนที่จำเลยจะเข้าทำงานเสียอีก และการที่จำเลยลงชื่อเป็นผู้รับมอบอำนาจตามเอกสารหมาย ล.5 ก็ไม่มีข้อความระบุให้จำเลยเป็นผู้รับมอบอำนาจแต่อย่างใด เพราะเอกสารหมาย ล.5 ระบุให้นายหลุย และหรือนายเกรียงไกร และหรือนางสาวนาตยา เป็นผู้รับมอบอำนาจเพียง 3 คน มิได้ระบุให้จำเลยเป็นผู้รับมอบอำนาจแต่อย่างใด จึงเป็นการชัดแจ้งว่าจำเลยปลอมเอกสารหมาย ล.5 เพื่อนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานเท็จต่อศาล
จำเลยเบิกความต่อไปหลังจากเข้าทำงานประมาณ 1 อาทิตย์ นางสาวพิมพวรรณได้นำหนังสือมอบอำนาจและเอกสารคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทมาให้จำเลยลงชื่อเพื่อเปลี่ยนกรรมการตามเอกสารหมาย ล.6 และ ล.7 แต่จากเอกสารหมาย ล.6 หนังสือมอบอำนาจระบุให้นายหลุย และหรือนายเกรียงไกร และหรือนางสาวนาตยา เป็นผู้รับมอบอำนาจ มิได้ระบุให้จำเลยเป็นผู้รับมอบอำนาจแต่อย่างใด แต่เหตุไฉนจำเลยจึงลงชื่อในเอกสารหมาย ล.6 และเมื่อนำเอกสารหมาย ล.6 มาเปรียบเทียบกับเอกสารหมาย ล.7 แผ่นที่ 4 ซึ่งลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2539 เช่นกัน ก็พบว่าเอกสารทั้งสองฉบับคือเอกสารแผ่นเดียวกัน เพราะมีข้อความเหมือนกันทุกประการแต่เอกสารหมาย ล.7 แผ่นที่ 4 กลับไม่มีลายมือชื่อจำเลยดังเช่นเอกสารหมาย ล.6 ทำให้เห็นได้ว่าจำเลยลบลายมือชื่อนายเกรียงไกรตามเอกสารหมาย ล.7 แผ่นที่ 4 ออกแล้วลงลายมือชื่อจำเลยลงไปแทนนายเกรียงไกร ตามเอกสารหมาย ล.6 เพื่อนำสืบพยานหลักฐานเท็จต่อศาล
ศาลได้ตรวจลายมือชื่อของจำเลยในเอกสารหมาย จ.1 อันประกอบด้วยบันทึกข้อตกลง คำขอจดทะเบียนบริษัท รายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติม และ/หรือมติพิเศษ กรรมการเข้าใหม่ หนังสือมอบอำนาจ หนังสือขอลาออก หนังสือโอนหุ้น หนังสือเรื่องขอลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท มีลักษณะการเขียนเช่นเดียวกับลายมือชื่อของจำเลยในเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 3 ซึ่งแตกต่างจากลายมือชื่อซึ่งจำเลยเขียนต่อหน้าศาลเพื่อส่งไปให้กองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบลายมือชื่อ เชื่อว่าจำเลยลงลายมือชื่อไว้ในเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 แผ่นที่ 3 โดยเป็นลายมือชื่อของจำเลยอย่างแน่นอนปราศจากสงสัย จำเลยจึงทราบดีอยู่แล้วว่าลายมือชื่อที่จำเลยอ้างว่ามีการปลอมแปลงนั้น ความจริงแล้วเป็นลายมือชื่อของจำเลยซึ่งลงชื่อไว้ก่อนล่วงหน้า มิใช่ลายมือชื่อปลอมแต่อย่างใด การที่จำเลยไปแจ้งว่ามีการปลอมลายมือชื่อนั้นจึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนโดยรู้อยู่แล้วว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173 และเมื่อจำเลยเอาข้อความอันเป็นเท็จฟ้องโจทก์ต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา แต่แล้วจำเลยซึ่งเป็นโจทก์ก็ไม่ไปเบิกความที่ศาลจนเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้อง เมื่อจำเลยทราบความจริงอยู่แล้วว่าโจทก์มิได้กระทำความผิดอาญาใดๆ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการฟ้องเท็จอันเป็นความผิดตามมาตรา 175 อีกกระทงหนึ่ง ส่วนความผิดตามมาตรา 174 วรรคสอง เห็นว่า ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยแจ้งความเท็จเพื่อจะแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษและตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเอกสารหมาย จ.10 จำเลยก็มิได้กล่าวยืนยันว่าผู้ที่ปลอมเอกสารคือโจทก์ โดยจำเลยแจ้งความเพียงว่าในเบื้องต้นจำเลยสงสัยโจทก์ หากประสงค์จะดำเนินคดีจะมอบคดีต่อพนักงานสอบสวนอีกครั้งหนึ่งเท่านั้น จึงยังไม่พอฟังว่าจำเลยมีเจตนาแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษ ไม่อาจเป็นความผิดตามมาตรานี้ได้
ส่วนรายงานการตรวจพิสูจน์ของกองพิสูจน์หลักฐานโดยความเห็นของผู้เชี่ยวชาญระบุว่าได้ตรวจพิจารณาลายมือชื่อผู้ให้สัญญาและผู้เริ่มก่อการที่มีดอกจันสีแดงในบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 1 และคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัดเอกสารหมาย จ.23 เปรียบเทียบกับตัวอย่างลายมือชื่อ สำเนาลายมือชื่อ และลายมือชื่อของนายวรวัตน์ ตามที่ระบุไว้เอกสารตัวอย่างข้างต้น ดูโดยละเอียดแล้วปรากฏว่ามีคุณสมบัติของการเขียนรูปร่างลักษณะของตัวอักษรแตกต่างกันดังได้ชี้ให้เห็นเป็นตัวอย่างในภาพแสดงประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์ที่ พ.415/2545 จำนวน 4 แผ่น รวม 9 ภาพ แต่เนื่องจากมีบางส่วนของตัวอักษรบางตัวเขียนเป็นคนละแบบกันและลายมือชื่อตัวอย่างหนึ่งเป็นสำเนาเอกสาร ในกรณีนี้ลงความเห็นว่าน่าจะไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันนั้น เห็นว่า ลายมือชื่อของจำเลยที่เขียนต่อหน้าศาลเพื่อส่งไปตรวจพิสูจน์ที่กองพิสูจน์หลักฐานนั้นเป็นการจงใจเขียนให้แตกต่างกับลายมือชื่อของจำเลยเดิมเพื่อที่จะให้กองพิสูจน์หลักฐานยืนยันว่าลายมือชื่อจำเลยที่ลงชื่อต่อหน้าศาลมิใช่ลายมือชื่อของจำเลยในเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 แผ่นที่ 3 เพราะจะเห็นได้ว่าลีลาการเขียนแตกต่างกันมากมาย โดยลายมือชื่อจำเลยที่ลงลายมือชื่อต่อหน้าศาล ตัว ว จำเลยลากหางยาวเพื่อให้แตกต่างจากลายมือชื่อโดยปกติของจำเลย เมื่อประจักษ์ชัดแจ้งว่าจำเลยใช้ลีลาการเขียนลายมือชื่อเพื่อให้แตกต่างไปจากของเดิม รายงานการตรวจพิสูจน์จากกองพิสูจน์หลักฐานจึงยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173, 175 เป็นความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานแจ้งความเท็จ จำคุก 1 ปี ฐานฟ้องเท็จ จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share