คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 142/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ข้อตกลงที่กำหนดว่า หากโจทก์ผู้กู้ไม่ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่ ส. ผู้ให้กู้ เมื่อครบกำหนดตามสัญญา ก็ให้สิทธิ ส. โอนที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้เงินกู้ได้ทันทีตามหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้โดยไม่กรอกข้อความให้ ส. ยึดถือไว้เป็นประกันโดยไม่คำนึงถึงราคาที่ดินพิพาทว่าจะเท่ากับราคาท้องตลาดในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบคือเวลาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจึงขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสอง ย่อมตกเป็นโมฆะตาม มาตรา 656 วรรคสาม ส. หามีสิทธิบังคับให้โจทก์ดำเนินการโอนที่ดินพิพาทไม่ การที่จำเลยบุตรของ ส. จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยขัดต่อ มาตรา 656 วรรคสอง และวรรคสาม ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพราะเป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติห้ามไว้โดยชัดแจ้งเพื่อป้องกันมิให้ผู้กู้ยืมถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ให้กู้ยืม ปัญหานี้จึงเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วย มาตรา 246 และมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 10151 ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อประมาณปี 2524 โจทก์นำโฉนดที่ดินดังกล่าวไปวางประกันเงินกู้แก่ผู้มีชื่อ โดยโจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจพร้อมกับรับรองสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้านของโจทก์ มอบให้แก่ผู้มีชื่อยึดถือไว้แต่เมื่อโจทก์ขอรับโฉนดที่ดินดังกล่าวกลับคืนมาเพื่อนำออกขายชำระหนี้ผู้มีชื่อกลับไม่ยอมคืนให้ โจทก์ไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าจำเลยกรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้ และโอนขายที่ดินของโจทก์เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2539 โดยโจทก์มิได้ยินยอมรู้เห็น ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 10151 ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ฉบับลงวันที่ 25 มิถุนายน 2539 ระหว่างโจทก์กับจำเลยและให้ใส่ชื่อโจทก์กลับเข้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามเดิมด้วยทุนทรัพย์ของจำเลยเอง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2536 โจทก์กู้ยืมเงินนายสุเทพ ตั้งทวีสุโข บิดาจำเลย จำนวน 4,000,000 บาท โดยมอบโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทเลขที่ 10151 ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ให้นายสุเทพยึดถือเอาไว้ และมีข้อสัญญาว่า ถ้าโจทก์ผิดสัญาไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งหมดเมื่อครบกำหนดตามสัญญา ยอมให้นายสุเทพนำหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อให้ไว้ไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ใดก็ได้ ต่อมาโจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ นายสุเทพจึงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2536 โจทก์กู้ยืมเงินนายสุเทพ ตั้งทวีสุโข บิดาจำเลยจำนวน 4,000,000 บาท โดยมอบโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทเลขที่ 10151 ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ตามเอกสารหมาย จ.11 และหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อโดยไม่กรอกข้อความ ตามเอกสารหมาย จ. 22 ให้นายสุเทพยึดถือไว้เป็นประกัน ต่อมาวันที่ 25 มิถุนายน 2539 จำเลยได้ใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยตามหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.17 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า การที่จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยนำสืบว่า โจทก์เป็นเพื่อนนายสุเทพบิดาจำเลย เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2536 โจทก์กู้ยืมเงินนายสุเทพจำนวน 4,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระหนี้ภายใน 2 ปี โดยโจทก์มอบโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.11 พร้อมหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.22 และหลักฐานต่าง ๆ ในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้นายสุเทพยึดถือไว้โดยมีข้อตกลงว่า หากโจทก์ไม่ชำระหนี้ยอมให้นายสุเทพโอนที่ดินพิพาทตีใช้หนี้ได้ทันทีตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย ล.3 ปรากฏว่าโจทก์ผิดนัดและมีหนี้ค้างชำระแก่นายสุเทพ รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงินทั้งสิ้น 6,780,928 บาท นายสุเทพจึงให้จำเลยใช้หนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.22 ไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยในราคา 4,000,000 บาท ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.17 และทวงถามให้โจทก์ชำระหนี้ที่เหลืออีก 2,000,000 บาท ตามหนังสือทวงถามเอกสารหมาย จ.16 เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่จำเลยนำสืบดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่นายสุเทพผู้ให้ยืมยอมรับเอาทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืม ไม่ปรากฏว่าโจทก์กับนายสุเทพได้มีการตกลงกันก่อนว่าที่ดินพิพาทที่ตีใช้หนี้เงินยืมมีราคาเท่าใด เท่ากับราคาท้องตลาดในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบหรือไม่ โดยหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย ล.3 ข้อ 3. ระบุว่า “เพื่อเป็นหลักฐาน ข้าพเจ้าฯ ได้นำโฉนดที่ดินเลขที่ 10151 เนื้อที่ดิน 1 ไร่ 28 วา ตั้งอยู่ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พร้อมหลักฐานต่าง ๆ มอบอำนาจในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อข้าฯ ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยทั้งหมดเมื่อครบสัญญาโดยไม่ต้องฟ้องร้องต่อศาลใด ๆ” จากข้อตกลงดังกล่าวย่อมเห็นได้ว่าหากโจทก์ไม่ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่นายสุเทพเมื่อครบกำหนดตามสัญญา ก็ให้สิทธินายสุเทพโอนที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้เงินกู้ได้ทันที โดยไม่คำนึงถึงราคาที่ดินพิพาทว่าจะเท่ากับราคาท้องตลาดในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบคือเวลาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจึงขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 วรรคสอง ย่อมตกเป็นโมฆะตาม มาตรา 656 วรรคสาม นายสุเทพหามีสิทธิบังคับให้โจทก์ดำเนินการโอนที่ดินพิพาทไม่ การที่จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยขัดต่อ มาตรา 656 วรรคสอง และวรรคสาม ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนเพราะเป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติห้ามไว้โดยชัดแจ้งเพื่อป้องกันมิให้ผู้กู้ยืมถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ให้กู้ยืม ปัญหานี้จึงเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปแต่ที่โจทก์มีคำขอให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามเดิมและหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนานั้น เห็นว่า เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ย่อมกลับมามีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินตามเดิม โดยไม่จำต้องบังคับตามคำขอดังกล่าวของโจทก์อีก”
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 10151 ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ฉบับลงวันที่ 25 มิถุนายน 2539 ระหว่างโจทก์กับจำเลย คำขออื่นให้ยก

Share