คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1413/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 234 เป็นบทบัญญัติบังคับผู้อุทธรณ์คำสั่งต้อง นำค่าฤชาธรรมเนียมมาวางศาล และนำเงินมาชำระตาม คำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อ ศาลภายในกำหนด 10 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งนั้น หาใช่เป็นหน้าที่ของศาลที่ต้อง แจ้งให้จำเลยทราบไม่.

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกับอีกสำนวนหนึ่ง ซึ่งโจทก์คนเดียวกันนี้ฟ้องนายเปี๊ยย้ง แซ่ลิ้ม เป็นจำเลยแต่คดีดังกล่าวไม่ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา
โจทก์ฟ้องทั้งสามสำนวนใจความว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1631 ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี จำเลยทั้งสามสำนวนเช่าที่ดินโฉนดดังกล่าวของโจทก์เพียงบางส่วน เพื่อปลูกสร้างห้องแถวทำการค้าและอยู่อาศัย ครั้นครบกำหนดตามสัญญาเช่าที่ดิน โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทุกสำนวนรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายออกจากที่ดินโจทก์ แต่จำเลยทุกสำนวนเพิกเฉยขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยทุกสำนวนรื้อถอนห้องแถวดังกล่าวและส่งมอบที่ดินให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์รื้อถอนได้เอง โดยจำเลยออกค่าใช้จ่ายให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์สำนวนละ 1,000 บาทต่อเดือน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะรื้อถอนห้องแถวออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การและฟ้องแย้งว่า สัญญาเช่าตามฟ้องเป็นนิติกรรมอำพราง โจทก์จำเลยร่วมทุนกันก่อสร้างห้องแถว โดยตกลงกันว่าโจทก์ให้จำเลยอยู่ในที่ดินไม่น้อยกว่า 30 ปี เมื่อครบกำหนดห้องแถวตกเป็นสิทธิของโจทก์ ทำสัญญาเช่ากันคราวละ 3 ปี จนครบ30 ปี จำเลยเช่าที่ดินและห้องแถวได้เพียง 23 ปี ยังเหลืออีก 7 ปีจึงจะครบกำหนด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่ ขอให้โจทก์ไปจดทะเบียนการเช่าที่ดินและห้องแถวตามฟ้องให้แก่จำเลยทั้งสามสำนวนอีก 7 ปี นับแต่วันที่สัญญาเช่าตามฟ้องสิ้นสุดลงต่อเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรีหากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า สัญญาเช่าไม่ใช่นิติกรรมอำพรางโจทก์ให้จำเลยเช่าที่ดินเป็นเวลา 3 ปี ตามสัญญาเช่าท้ายฟ้องไม่มีข้อผูกพันให้เช่าที่ดินถึง 30 ปี
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2ในสำนวนที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยนี้
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยในสำนวนที่ 1 และสำนวนที่ 2 รื้อถอนห้องที่ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 1631ออกไป และส่งมอบที่ดินแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็ให้โจทก์ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา296 ทวิ ให้จำเลยในสำนวนที่ 1 ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ในสำนวนที่ 3ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์คนละ 300 บาท ต่อเดือน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะรื้อถอนห้องแถวออกไปจากที่ดินของโจทก์ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามสำนวน
จำเลยในสำนวนที่ 1 ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ในสำนวนที่ 3อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์เพราะเห็นว่าแต่ละสำนวนเป็นคดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามสำนวนเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
จำเลยในสำนวนที่ 1 ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ในสำนวนที่ 3 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ โดยมิได้นำเงินที่จะต้องชำระตามคำพิพากษามาวางหรือหาประกันมาให้ไว้ต่อศาลชั้นต้นเป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ให้ยกคำร้อง
จำเลยในสำนวนที่ 1 ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ในสำนวนที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2532 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ในวันเดียวกันนั้น จำเลยจะต้องร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ภายใน 10 วัน และนำค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลภายในกำหนด10 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง แต่จำเลยทั้งสามสำนวนยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน2532 โดยมิได้นำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาล เป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234ศาลอุทธรณ์ให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งสามสำนวนจึงชอบแล้ว ที่จำเลยทั้งสามสำนวนฎีกาว่าศาลชั้นต้นสมควรตรวจและพิจารณาว่า จำเลยได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234ในเรื่องนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมมาวางศาล และนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลภายในกำหนดหรือยัง หากเห็นว่าจำเลยยังมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายก็ชอบที่จะแจ้งให้จำเลยทราบในเรื่องดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยไปยังศาลอุทธรณ์ทันทีโดยมิได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงข้อบกพร่องดังกล่าวจึงเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคแรก นั้นศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234มิได้บังคับให้ศาลชั้นต้นต้องปฏิบัติดังที่จำเลยกล่าวอ้างแต่ประการใด แต่บทบัญญัติมาตรานี้บังคับผู้อุทธรณ์แต่เพียงผู้เดียวให้ต้องปฏิบัติ หาใช่เป็นหน้าที่ของศาลดังที่จำเลยกล่าวอ้างไม่…”
พิพากษายืน.

Share