แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องเทศบาลเป็นจำเลยว่าไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่จะต้องจัดให้มีและบำรุงทางน้ำ ทางบก และทางระบายน้ำ ตลอดจนการรักษาความสะอาด ทำให้โจทก์และประชาชนทั่วไปไม่อาจใช้ทางน้ำสาธารณะเป็นทางสัญจรได้เหมือนแต่ก่อน ดังนี้ ย่อมหมายความว่า พลเมืองที่ใช้ทางน้ำสาธารณะนั้น ๆ ร่วมกันเป็นผู้ได้รับความเสียหาย ไม่ใช่ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายยิ่งกว่าประชาชนทั่วไป ไม่พอให้ถือว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลย อันจะทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเทศบาลธนบุรี มีสิทธิไปมาโดยทางบก ทางน้ำ ที่มีอยู่ในเขตเทศบาล จำเลยที่ ๑ มีหน้าที่รักษาการตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ พระราชบัญญัติธรรมเนียมคลอง ๑๐ ข้อ และพระราชบัญญัติจัดวางทางรถไฟและทางหลวง พ.ศ. ๒๔๖๔ และเป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ มีหน้าที่ให้มีและบำรุงทางบก ทางน้ำ จัดให้มีและบำรุงทางระบายน้ำรักษาความสะอาดของถนนหรือทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งการจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลในเขตเทศบาลธนบุรี จำเลยที่ ๒ งดเว้นไม่ทำการตามหน้าทีและทำการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการสร้างทางหลวงโดยถมคลองแล้วยังฝังท่อระบายน้ำแทนบ้าง ถมคลองแล้วให้การรถไฟสร้างสถานีรถไฟทับบ้าง ถมคลองเพื่อสร้างถนนแล้วปล่อยให้ตื้นเขินบ้าง และปล่อยให้ประชาชน ทิ้งขยะมูลฝอยลงในคลองบางคลองจนตื้นเขิน ทั้งไม่บำรุงรักษาทางระบายน้ำในถนนบางสาย ทำให้โจทก์และประชาชนทั่วไปไม่อาจใช้ทางน้ำสาธารณะเป็นทางสัญจรได้ และเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับให้จำเลยขุดลอกคลอง รื้อถอนสิ่งกีดขวางไปให้พ้นเขตคลอง และแก้ไขเปลี่ยนแปลงท่อระบายน้ำ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย จึงสั่งไม่รับฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ที่อ้างว่าจำเลยที่ ๒ กระทำละเมิดก็คือ การที่จำเลยที่ ๒ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอันเกี่ยวกับหน้าที่ที่จะต้องจัดให้มีและบำรุงทางน้ำ ทางบก และทางระบายน้ำ ตลอดจนรักษาความสะอาด ทำให้โจทก์และประชาชนทั่วไปไม่อาจใช้ทางน้ำสาธารณะเป็นทางสัญจรไปมาได้เหมือนแต่ก่อน ดังนี้ ย่อมมีความหมายว่า พลเมืองที่ใช้ทางน้ำสาธารณะนั้น ๆ ร่วมกันเป็นผู้ได้รับความเสียหาย หากจำเลยที่ ๒ ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของตนตามกฎหมายจริง ก็หาใช่ว่าโจทก์เป็นผู้ได้รับความเสียหายยิ่งกว่าประชาชนทั่วไปไม่ สภาพแห่งข้อหาของโจทก์ไม่พอให้ถือว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลย อันจะทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องร้องจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕
พิพากษายืน