คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14040/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกันและซื้อที่ดินพร้อมบ้านภายหลังจดทะเบียนสมรส แม้ที่ดินและบ้านระบุชื่อโจทก์เพียงฝ่ายเดียวแต่เป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยได้มาระหว่างสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) ซึ่งโจทก์และจำเลยต้องนำมาแบ่งกันเมื่อขาดจากการสมรสโดยได้ส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1533
การที่โจทก์ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างสมรสกับจำเลย แม้ส่วนของจำเลยซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวนั้น การทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทจะฝ่าฝืน ป.ที่ดิน มาตรา 86 แต่การได้ที่ดินมามิใช่จะไม่มีผลใด ๆ เสียเลยเพราะจำเลยยังมีสิทธิได้รับผล ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 ที่บัญญัติให้คนต่างด้าวจัดการจำหน่ายที่ดินดังกล่าวนั้นได้และการบังคับให้จำหน่ายดังกล่าวหมายความเฉพาะกับที่ดินพิพาทเท่านั้น ไม่รวมบ้านซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างพิพาทด้วยเพราะคนต่างด้าวไม่ต้องห้ามมิให้ถือกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างแต่ประการใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกัน และให้ขายบ้าน (บ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน 100 ตารางวา)ที่เป็นสินสมรสตามฟ้อง โดยให้โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิขายบ้าน ได้เงินมาจำนวนเท่าไร ให้แบ่งให้โจทก์และจำเลยคนละครึ่ง
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้พิพากษาให้โจทก์โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 62146 ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 4/415 หมู่ที่ 4 แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร คืนให้แก่จำเลย หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า บ้านพร้อมที่ดินตามฟ้องเป็นสินสมรส ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในทรัพย์พิพาทกึ่งหนึ่ง หากโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งทรัพย์พิพาทไม่ได้ ให้นำทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาด เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วแบ่งเงินสุทธิให้โจทก์กึ่งหนึ่งตามฟ้องและฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองฝ่ายสมควรให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกันและให้นำทรัพย์สินพิพาทออกขายแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกันเท่านั้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยชั้นฎีกาของจำเลยประเด็นแรกว่า ทรัพย์พิพาทคือที่ดินและบ้านเลขที่ 4/415 ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 62146 เป็นสินสมรสหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า จำเลยต้องการซื้อที่ดินและบ้านเป็นของจำเลย เนื่องจากจำเลยเป็นคนต่างด้าวไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ จึงใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์เป็นตัวแทนเชิดของจำเลย โจทก์ต้องคืนที่ดินและบ้านแก่จำเลยนั้น เห็นว่า การที่จำเลยจะตั้งโจทก์เป็นตัวแทนเชิดในการถือครองที่ดินและบ้านพิพาทสามารถกระทำได้โดยโจทก์และจำเลยไม่ต้องจดทะเบียนสมรส ทั้งพฤติการณ์ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยามาก่อนที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี 2527 ต่อมาจึงจดทะเบียนสมรสกัน จำเลยก็ไม่ได้ให้การปฏิเสธ ข้อเท็จจริงดังกล่าวรับฟังได้ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยากันตั้งแต่ปี 2527 ต่อมาวันที่ 12 พฤศจิกายน 2529 โจทก์กับจำเลยจึงจดทะเบียนสมรสและซื้อที่ดินและบ้านดังกล่าวมาภายหลังมีการจดทะเบียนสมรส แม้ที่ดินและบ้านระบุชื่อของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว แต่ก็เป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้มาระหว่างโจทก์กับจำเลยสมรสกัน จึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์กับจำเลยได้มาระหว่างสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (1) ที่จำเลยอ้างว่า โจทก์เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยนั้น มีเฉพาะคำเบิกความของจำเลย ซึ่งขัดต่อการประพฤติปฏิบัติระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งปฏิบัติต่อกันมาโดยอยู่กินฉันสามีภริยาก่อนมีการจดทะเบียนสมรส ดังนั้นที่ดินและบ้านจึงเป็นสินสมรส ซึ่งโจทก์กับจำเลยต้องนำมาแบ่งกันเมื่อขาดจากการสมรสโดยได้ส่วนเท่ากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้แบ่งทรัพย์สิน โดยนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดโดยไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 94 เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า การที่โจทก์ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างสมรสกับจำเลย แม้ส่วนของจำเลยซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวนั้น การทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทจะฝ่าฝืนตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 แต่การได้ที่ดินมาก็มิใช่ว่าจะไม่มีผลใด ๆ เสียเลยเพราะจำเลยยังมีสิทธิได้รับผลตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 94 ที่บัญญัติให้คนต่างด้าวจัดการจำหน่ายที่ดินดังกล่าวนั้นได้ และการบังคับให้จำหน่ายดังกล่าวหมายความเฉพาะกับที่ดินพิพาทเท่านั้น ไม่รวมบ้านซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างพิพาทด้วย เพราะคนต่างด้าวไม่ต้องห้ามมิให้ถือกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างแต่ประการใด ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ขายทอดตลาดที่ดินและบ้าน โดยไม่ได้กำหนดให้จำเลยปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 94 นั้น เป็นการไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจำหน่ายเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 62146 ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ครึ่งหนึ่งภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด โดยให้โจทก์ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนจำเลยไปจดทะเบียนโอนจำหน่ายได้ หากไม่ได้ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาและให้จำเลยมีสิทธิในเงินที่จำหน่าย หากไม่ปฏิบัติตามให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้นได้ตามกฎหมาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และให้ศาลชั้นต้นแจ้งคำพิพากษาศาลฎีกาให้อธิบดีกรมที่ดินทราบ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share