คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1401/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การผ่อนชำระหนี้ของจำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันและอาวัลตั๋วเงินกระทำภายในกำหนด 1 ปี นับแต่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ถึงแก่กรรมจึงเป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/14 เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ต้องเริ่มนับอายุความกันใหม่ตามอายุความแห่งมูลหนี้เดิม นับแต่เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นสิ้นสุดลง สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกฎหมายมิได้กำหนดไว้ว่ามีอายุความเท่าไรจึงถือตามกำหนดอายุความทั่วไป ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 คือมีกำหนด 10 ปี อายุความที่ผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินจะฟ้องผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินมีกำหนดสามปีนับแต่วันที่ตั๋วสัญญาใช้เงินแต่ละฉบับถึงกำหนดจ่ายเงิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1001ประกอบด้วยมาตรา 940 และมาตรา 985 จำเลยที่ 3 ได้ผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์ครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 8มิถุนายน 2527 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2530 จึงเป็นการฟ้องจำเลยที่ 3 ให้รับผิดชำระเงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีภายในกำหนดอายุความ 10 ปี และฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดชำระเงินในฐานะเป็นผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินภายในกำหนด 3 ปีนับแต่เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลง ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์วงเงิน 40,000 บาท ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ทบต้นตามประเพณีของธนาคารจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหลังจากทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแล้วจำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินและนำเงินเข้าบัญชีเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีตลอดมา และจำเลยที่ 1 ยังได้นำตั๋วสัญญาใช้เงินมาขายให้โจทก์หกฉบับเป็นเงิน210,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีจำเลยที่ 3 ลงนามเป็นผู้อาวัลทั้งหกฉบับดังกล่าว และจำเลยที่ 1 ยังได้ทำหนังสือรับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงินไว้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1ได้ทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้โดยยอมรับว่าเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นเงิน 40,819.40 บาท และเป็นหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจำนวน 226,060.71 บาท โดยสัญญาว่าจะผ่อนชำระหนี้ทั้งหมดเป็นรายเดือน เดือนละไม่น้อยกว่า 10,000 บาทโดยจำเลยที่ 3 ลงนามเป็นผู้ค้ำประกัน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1ที่ 3 ไม่นำเงินมาผ่อนชำระตามสัญญา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้หนี้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 114,202.28 บาท และหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 396,894.81 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 40,819.40 บาท และต้นเงิน181,480.24 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีและตั๋วสัญญาใช้เงินเรื่อยมา จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ถึงวันฟ้องไม่เกิน 50,000 บาท การที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ยกเลิกสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและบัญชีเดินสะพัดโดยจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันแทนจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2ย่อมพ้นความรับผิดดอกเบี้ยนอกเหนือจากระยะเวลา 5 ปี ถึงวันฟ้องขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2527จำเลยที่ 2 ที่ 3 เคยติดต่อและแจ้งต่อโจทก์แล้วตั้งแต่กลางปีพ.ศ. 2528 โจทก์มิได้ฟ้องร้องภายในกำหนด 1 ปี คดีของโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่โจทก์รู้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 1 ขาดอายุความ จำเลยที่ 2 ที่ 3ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ใช้เงินจำนวน40,819.40 บาทให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2523 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 3 ใช้เงินจำนวน 396,894.81 บาทให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินจำนวน181,480.24 บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้องคือวันที่ 1 เมษายน 2530เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า เดิมนายติ่ง แซ่เจี่ย จำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ได้ขอถอนฟ้องไปแล้วได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ วงเงิน 40,000 บาทดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี คิดดอกเบี้ยทบต้น โดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมปรากฏตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.18 และสัญญาค้ำประกันหมาย จ.19และเมื่อครบกำหนดอายุสัญญาแล้วจำเลยที่ 1 ได้ต่อสัญญาไปอีก 6 เดือน โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.20หลังจากทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแล้ว จำเลยที่ 1 ได้เดินสะพัดทางบัญชีโดยถอนเงินและนำเงินเข้าฝากในบัญชีเรื่อยมา ปรากฏตามบัญชีกระแสรายวันหมาย จ.21 นอกจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้นำตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 6 ฉบับ ซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับอาวัลไปขายลดแก่โจทก์ โดยยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ปรากฏตามหนังสือรับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.28 ถึง จ.33 เมื่อถึงกำหนดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินแต่ละฉบับ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ไม่ชำระเงินให้โจทก์ตามสัญญา โจทก์จึงทวงถาม ต่อมาวันที่ 2 มิถุนายน 2523 จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ต่อโจทก์ โดยยอมชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 40,819.40 บาท และหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน 6 ฉบับ เป็นเงิน 226,060.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของยอดเงินที่ค้างชำระตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2523 ตกลงผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท เริ่มผ่อนชำระตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2523เป็นต้นไปหากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ปรากฏตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.34 ในการทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันแต่จำเลยที่ 3 ลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันแต่เพียงผู้เดียว หลังจากทำสัญญารับสภาพหนี้แล้วได้มีการผ่อนชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินรวม 16ครั้ง เป็นเงิน 58,000 บาทตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.16 จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2527 แต่การชำระหนี้ครั้งสุดท้ายจำเลยที่ 3 ให้น้องชายนำเงินไปชำระเมื่อวันที่ 8มิถุนายน 2527 ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 มีว่าการที่จำเลยที่ 3 ผ่อนชำระหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.34แก่โจทก์ เป็นเหตุให้อายุความสำหรับสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 3 ต้องตั้งต้นนับใหม่และมีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 หรือไม่ เมื่อได้ความว่าได้มีการผ่อนชำระหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.34 ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2527 ตาม หลักฐานใบรับฝากเงินเอกสารหมาย ล.16 โดยจำเลยที่ 3 ให้น้องชายเป็นผู้นำเงินไปผ่อนชำระ และปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2527 การผ่อนชำระหนี้ครั้งสุดท้ายจึงมีขึ้นหลังจากจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมเพียง 1เดือน ดังนั้นการที่น้องชายจำเลยที่ 3 นำเงินไปผ่อนชำระหนี้และโจทก์ได้รับชำระหนี้ไว้ ตามใบรับฝากเงินเอกสารหมาย ล.16 จึงถือได้ว่าน้องชายเป็นตัวแทนในการชำระหนี้ของจำเลยที่ 3 และเป็นการผ่อนชำระหนี้ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม การผ่อนชำระหนี้ของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (มาตรา 172 เดิม)เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ต้องเริ่มนับอายุความกันใหม่ตามอายุความแห่งมูลหนี้เดิมนับแต่เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นสิ้นสุดลง สำหรับมูลกรณีตามฟ้องเมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 3 ผ่อนชำระหนี้โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน2527 อายุความใหม่จึงต้องเริ่มนับแต่วันดังกล่าว ซึ่งในเรื่องสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกฎหมายมิได้กำหนดไว้ว่ามีอายุความเท่าไร จึงต้องถือกำหนดอายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164(หรือมาตรา 193/30 ใหม่) คือ มีกำหนดสิบปี ส่วนมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 6 ฉบับตามฟ้องเห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3ให้รับผิดชำระเงินในฐานะที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน อายุความที่ผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินจะฟ้องผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินจึงมีกำหนดสามปีนับแต่วันที่ตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องแต่ละฉบับถึงกำหนดจ่ายเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1001 ประกอบด้วยมาตรา 940 และมาตรา 985 ดังนั้นเมื่อได้ความว่า จำนวนหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องทั้ง 6 ฉบับ จำเลยที่ 3 ได้ผ่อนชำระให้โจทก์ตามสัญญารับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.34 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2527และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2530 โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดชำระเงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีภายในกำหนดอายุความสิบปี และฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดชำระเงินในฐานะที่จำเลยที่ 3เป็นผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินภายในกำหนดสามปีนับแต่เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลง ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความและเห็นว่าจำเลยที่ 3 ให้การโดยชัดแจ้งว่า โจทก์มิได้ฟ้องคดีภายใน1 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม คดีโจทก์จึงขาดอายุความและโจทก์อุทธรณ์ว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกเรื่องอายุความขึ้นวินิจฉัยจึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share