แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 9 และ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 51 ซึ่งบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวนั้นเป็นเพียงกำหนดลำดับหนี้เงินทดแทน เงินสมทบและเงินเพิ่มที่นายจ้างค้างชำระกองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคมให้เป็นหนี้บุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของนายจ้างซึ่งเป็นลูกหนี้และให้อยู่ในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิในค่าภาษีอากรตาม ป.พ.พ. โดยมิได้มีบทบัญญัติใดที่กำหนดว่าหนี้นั้นจะต้องเป็นหนี้ที่นายจ้างซึ่งเป็นลูกหนี้ค้างชำระอยู่ในปีใดอย่างบุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรที่ ป.พ.พ. มาตรา 256 บัญญัติให้ใช้สำหรับเอาบรรดาค่าภาษีอากรในที่ดิน ทรัพย์สิน หรือค่าภาษีอากรอย่างอื่นที่ลูกหนี้ยังค้างชำระอยู่ในปีปัจจุบันและก่อนนั้นขึ้นไปอีกปีหนึ่ง
คดีนี้ผู้ร้องได้ใช้อำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. สาขาบ้านฉาง ของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 50 และ พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 47 โดยชอบตั้งแต่ปี 2554 อันถือได้ว่าเป็นวันที่ผู้ร้องใช้อำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมายเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระเงินทดแทน เงินสมทบและเงินเพิ่มชำระหนี้แล้ว ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ดังกล่าวจากเงินที่อายัดในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิตามคำร้อง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 101,167.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยกับค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับ จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ โจทก์ขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย สาขาบ้านฉาง ของจำเลยที่ 1 เพื่อบังคับชำระหนี้
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 47 ประกอบมาตรา 49 ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ถึงเดือนธันวาคม 2553 เป็นเงิน 12,495,369.04 บาท และเงินเพิ่ม 3,344,485.04 บาท และเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 46 ในปี 2553 และปี 2554 เป็นเงิน 547,200 บาท และเงินเพิ่ม 123,422.40 บาท
ผู้ร้องได้มีหนังสืออายัดเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย สาขาบ้านฉาง ของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 50 และพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 47 ผู้ร้องจึงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิในหนี้ดังกล่าวในลำดับเดียวกับมูลค่าภาษีอากรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 51 และพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 9 วันที่ 6 พฤศจิกายน 2555 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบ้านฉาง ได้ส่งเงิน 116,207.43 บาท ให้แก่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดระยองตามคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดี เมื่อคิดถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2555 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้กองทุนประกันสังคม 7,816,187.97 บาท และเงินเพิ่ม 6,700,483.57 บาท และเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน 547,200 บาท และเงินเพิ่ม 989,020.80 บาท รวมเป็นเงิน 15,505,692.34 บาท ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยเงินตามบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิในลำดับเดียวกับมูลค่าภาษีอากรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ผู้ร้องขอใช้สิทธิดำเนินการบังคับคดีต่อไป
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบ้านฉาง ของจำเลยที่ 1 ตามคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีบุริมสิทธิในหนี้เงินสมทบและเงินเพิ่มเฉพาะในปี 2554 และปี 2555 ส่วนหนี้ในปี 2552 และปี 2553 เป็นหนี้ที่ผู้ร้องมีสิทธิขอเฉลี่ยในฐานะเจ้าหนี้สามัญโดยไม่จำต้องยื่นคำร้องเข้ามาเป็นคดีใหม่ พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องมีประการเดียวว่า หนี้ที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินสมทบและเงินเพิ่มกองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคมในปี 2552 และปี 2553 ตามคำร้องเป็นหนี้บุริมสิทธิลำดับเดียวกับบุริมสิทธิในค่าภาษีอากรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 253 (3) หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 9 บัญญัติว่า “หนี้ที่เกิดจากการไม่ชำระเงินทดแทน เงินสมทบ หรือเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ลูกจ้างหรือสำนักงานมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของนายจ้างซึ่งเป็นลูกหนี้ในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิในค่าภาษีอากรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” และพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 51 บัญญัติว่า “หนี้ที่เกิดจากการไม่ชำระเงินสมทบและหรือเงินเพิ่ม ให้สำนักงานมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของนายจ้างซึ่งเป็นลูกหนี้ในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” บทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวเป็นเพียงบทบัญญัติกำหนดลำดับหนี้เงินทดแทน เงินสมทบและเงินเพิ่มที่นายจ้างค้างชำระกองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคมให้เป็นหนี้บุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของนายจ้างซึ่งเป็นลูกหนี้และให้อยู่ในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิในค่าภาษีอากรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยมิได้มีบทบัญญัติใดที่กำหนดว่าหนี้นั้นจะต้องเป็นหนี้ที่นายจ้างซึ่งเป็นลูกหนี้ค้างชำระอยู่ในปีใดเช่นอย่างบุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 256 บัญญัติให้ใช้สำหรับเอาบรรดาค่าภาษีอากรในที่ดิน ทรัพย์สิน หรือค่าภาษีอากรอย่างอื่นที่ลูกหนี้ยังค้างชำระอยู่ในปีปัจจุบันและก่อนนั้นขึ้นไปอีกปีหนึ่งเช่นที่โจทก์กล่าวมาในคำแก้ฎีกาไม่ ทั้งคดีนี้ผู้ร้องได้ใช้อำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบ้านฉาง ของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 50 และพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 47 ตามคำสั่ง โดยชอบตั้งแต่ปี 2554 อันถือได้ว่าเป็นวันที่ผู้ร้องใช้อำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมายเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระเงินทดแทน เงินสมทบ และเงินเพิ่มชำระหนี้แล้ว ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ดังกล่าวจากเงินที่อายัดในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิตามคำร้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้สามัญในหนี้เงินสมทบและเงินเพิ่ม ปี 2552 และปี 2553 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิจากเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบ้านฉาง ของจำเลยที่ 1 ที่ส่งไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ