แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยมิใช่ทายาทของเจ้ามรดกจะยกอายุความ 1 ปีขึ้นต่อสู้ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมนายแสน วงศ์ไชยา เจ้ามรดกกับนายหม่อง และนางตรุษวงศ์ไชยา ร่วมกันซื้อนาฬิกาไว้ 1 แปลงโดยใส่ชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันทั้งสามคน ต่อมาวันที่ 24 มกราคม 2514 นายแสนตาย โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้รับมรดกของนายแสน ไปขอแบ่งเฉพาะส่วนของนายแสน แต่นายหม่องนางตรุษไม่ยอมแบ่ง และได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของตนให้แก่จำเลยทั้งสอง จากนั้นจำเลยทั้งสองเข้าครอบครองทำกินต่อมา เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2519 จำเลยที่ 1ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จังหวัดลำปาง ขอรับมรดกเฉพาะส่วนของนายแสนผู้ตาย โจทก์ทั้งสามไปคัดค้าน จึงขอให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยให้โจทก์ทั้งสามรับมรดกเฉพาะส่วนของนายแสน ให้จำเลยทั้งสองมอบที่ดินซึ่งเป็นมรดกเฉพาะส่วนที่แบ่งแล้วให้โจทก์ทั้งสามครอบครองต่อไป หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การว่า นายแสนเจ้ามรดกเป็นพี่ร่วมบิดามารดาของจำเลยที่ 1เป็นคนละคนกับนายแสนสามีโจทก์ที่ 1 จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทโจทก์ทั้งสามไม่ใช่ทายาทผู้รับมรดกของนายแสนผู้ตาย หลังจากนายแสนตายแล้วโจทก์มิได้ฟ้องภายใน 1 ปี ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
วันชี้สองสถาน คู่ความรับกันว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินมรดกนี้อยู่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยว่า ให้งดสืบพยานโจทก์แล้ววินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความมรดก พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองไม่ใช่ทายาทของผู้ตาย จึงยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้ไม่ได้ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ปัญหาที่ว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความมรดกหรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายแสนวงศ์ไชยา เจ้ามรดก เพียงแต่เป็นผู้รับโอนที่ดินเฉพาะส่วนของนายหม่อง นางตรุษและครอบครองไว้เท่านั้น จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความมรดกหนึ่งปีขึ้นต่อสู้ได้ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาอ้างว่า จำเลยทั้งสองได้ครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากนายหม่อง นางตรุษ โดยโจทก์มิใช่ทายาทของเจ้ามรดกนั้น ไม่มีประเด็นในชั้นนี้เป็นเรื่องที่จะต้องฟังข้อเท็จจริงกันต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน