แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าและได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า NEWMAN ไว้ในประเทศต่าง ๆเกือบทั่วโลกเป็นเวลาหลายปีแล้ว เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลยผู้ได้จดทะเบียนไว้โจทก์ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย เป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474มาตรา 41(1) ในปัญหานี้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าหาได้วินิจฉัยถึงสิทธิในความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นโดยตรงไม่ แต่ย้อนไปวินิจฉัยว่า จำเลยมีสิทธิดีกว่าเพราะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเข้ามาก่อนอันเป็นการอ้างเหตุตามมาตรา 17 กรณีดังกล่าวย่อมไม่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 19 เบญจ คำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ายังไม่เป็นที่สุด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง โจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องนุ่งห่มและเครื่องหอม ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า NEWMAN กับสินค้าของโจทก์จำหน่ายในประเทศต่าง ๆ เกือบทั่วโลกมานานประมาณ 15 ปีแล้วรวมทั้งในประเทศไทยด้วย โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ที่ประเทศต่าง ๆ หลายประเทศและส่งสินค้าของโจทก์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเรื่อยมาก่อนที่จำเลยจะมาขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า NEWMAN ใช้กับสินค้าประเภทเดียวกันกับสินค้าของโจทก์ การใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยถือได้ว่าเป็นการเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตทำให้สาธารณชนหลงผิดอันเป็นการลวงขายสินค้าของจำเลยว่าเป็นสินค้าของโจทก์ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย เป็นการละเมิดต่อโจทก์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัดจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศฝรั่งเศษและโจทก์เป็นผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกายภายใต้เครื่องหมายการค้าว่า NEW MAN (นิวแมน)โดยโจทก์ใช้มาเป็นเวลา 15 ปีเศา แพร่หลายไปทั่วโลก จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศฝรั่งเศา และประเทศอื่นเกือบทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า N NEWMEN (เอ็น นิว เม็น) เป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งตัวอักษา และเสียงการอ่าน และจำเลยนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปใช้กับเครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกายอันเป็นการลวงขายว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ เป็นเหตุให้สาธารณชนสับสนหลงผิด ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์โจทก์ขอคิดค่าเสียหาย 20,000 บาทก่อนฟ้องโจทก์ให้จำเลยเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าN NEWMEN (เอ็น นิว เม็น) และให้เลิกผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยขอถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 77579 จากกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้ากรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ หากจำเลยไม่ยอมให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 20,000 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นผู้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าคำว่า NEWMEN (นิวเม็น) ภายใต้รูปรอยประดิษฐ์อักษาโรมันตัว N (เอ็น) และนำมาใช้กับสินค้าประเภทเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มที่จำเลยผลิตและจำหน่ายแต่ผู้เดียว จำเลยขอจดทะเบียนต่อกองทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า กรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ วันที่ 12 พฤษภาคม 2521 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนและประกาศลงในหนังสือจดหมายเหตุแสดงรายการเครื่องหมายการค้าเพื่อหาผู้คัดค้าน โจทก์คัดค้าน นายทะเบียนให้ยกคำคัดค้านของโจทก์และให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียน คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของโจทก์ คดีจึงถึงที่สุดโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องต่อศาล และสินค้าของโจทก์ไม่ได้รับความนิยมแพร่หลายในประเทศไทย โจทก์ไม่มีตัวแทนจำหน่ายสินค้าในประเทศไทยการจดทะเบีนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในต่างประเทศไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพุทธศักราช 2474 นอกจากนี้จำเลยไม่ได้เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เครื่องหมายการค้าของจำเลยแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ การกระทำของจำเลยไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ จำเลยยื่นขอจดทะเบียนไว้ก่อนโจทก์ การขอจดทะเบียนของโจทก์ไม่ชอบและเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของจำเลย ทำให้จำเลยเสียหาย จำเลยขอสงวนสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหาย โดยขอให้ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของจำเลยดีกว่าโจทก์ ให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ออกจากทะเบียนของกองทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า ห้ามโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับสินค้าของโจทก์ในประเทศไทย และยกฟ้องโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เหตุที่โจทก์ฟ้องจำเลยเพราะกระทรวงพาณิชย์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย โดยมิได้วินิจฉัยว่าโจทก์หรือจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าและโดยข้อเท็จจริงโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยไม่ได้เลียนแบบของจำเลย ขอให้ศาลยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นที่สุด โจทก์หรือจำเลยจะนำคดีมาสู่ศาลอีกไม่ได้ และเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยไม่เหมือนและไม่คล้ายกัน จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ พิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเลขที่ 77579 จากกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์หากจำเลยไม่ยอมให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 10,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่า เมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยหรือมีคำสั่งตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มาตรา 19 เบญจแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีนอกประเด็นหรือไม่ ซึ่งจำเลยฎีกาว่าคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าถึงที่สุดแล้วและศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41(1) ศาลฎีกาได้พิจารณาคำฟ้องของโจทก์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าและได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่าNEW MAN (นิวแมน) ไว้ในประเทศต่าง ๆ เกือบทั่วโลกเป็นเวลาหลายปีแล้ว เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลยผู้ได้จดทะเบียนไว้ โจทก์ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41(1) ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้ทำการชี้สองสถานกำหนดเป็นประเด็นไว้ด้วยแล้วว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยเหมือนคล้ายกันหรือไม่และใครมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่ากัน ในปัญหานี้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าหาได้วินิจฉัยถึงสิทธิในความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นโดยตรงไม่ แต่ย้อนไปวินิจฉัยว่า จำเลยมีสิทธิดีกว่าเพราะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเข้ามาก่อนอันเป็นการอ้างเหตุตามมาตรา 17 กรณีดังกล่าวย่อมไม่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 19 เบญจ ตามที่จำเลยยกขึ้นกล่าวอ้าง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ และเมื่อเป็นกรณีเช่นนี้ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวได้ ไม่เป็นการนอกเหนือประเด็นแห่งคดี
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าจำเลยไม่สุจริตและการกระทำของจำเลยไม่เป็นการลวงขาย โจทก์จึงไม่เสียหายนั้นข้อนี้โจทก์นำสืบทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องนุ่งห่มและเครื่องหอม ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า NEW MAN (นิวแมน) กับสินค้าของโจทก์จำหน่ายในประเทศต่าง ๆ เกือบทั่วโลกมานานประมาณ 15 ปีแล้วรวมทั้งในประเทศไทยด้วย โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ที่ประเทศฝรั่งเศษตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2512และยังได้จดทะเบียนไว้ที่ประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ สินค้าของโจทก์ได้ส่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2513 เรื่อยมาและจำเลยเพิ่งมาขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ใช้คำว่าN NEWMEN (เอ็น นิมเมน) เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2521 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.5 ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ การใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นการเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ข้อเท็จจริงดังที่โจทก์นำสืบมานี้จึงรับฟังได้แล้วว่า จำเลยกระทำการโดยไม่สุจริต และการที่จำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยกับเครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกายที่จำเลยผลิตและจำหน่ายซึ่งเป็นสินค้าประเภทเดียวกันกับสินค้าของโจทก์ ย่อมทำให้สาธารณชนหลงผิดอันเป็นการลวงขายสินค้าของจำเลยว่าเป็นสินค้าของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย เป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจะอ้างว่ามิได้มีการลวงขายสินค้าของจำเลยว่าเป็นสินค้าของโจทก์และโจทก์ไม่เสียหายนั้น ย่อมขัดกับพฤติการณ์ของจำเลยเอง ไม่มีน้ำหนักรับฟัง แต่ที่ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยเสียด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย นอกจากที่แก้ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.