แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เป็นภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อยู่กินฉันสามีภริยากันกว่า10 กว่าปี และมีบุตรด้วยกันหลายคน เมื่อชายตายหญิงเชื่อโดยสุจริตว่าตนมีสิทธิรับมรดกของชาย จึงได้ขอรับมรดกที่ดินมีโฉนดของผู้ตาย เมื่อไม่มีทายาทคนใดมาคัดค้านจนหญิงได้รับโฉนดมาและโอนขายให้แก่บุคคลภายนอก บุคคลภายนอกได้เสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว บุคคลภายนอกย่อมได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299 วรรคท้าย ทายาทจะขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายเสียไม่ได้
ส่วนที่ดินที่ยังมิได้รับโอนมาทายาทย่อมขอให้เพิกถอนประกาศขอรับมรดกของหญิงนั้นได้
ย่อยาว
คดี 2 สำนวนนี้ โจทก์ฟ้องอ้างว่าโจทก์เป็นบิดาของนายหรี่ผู้ตาย นางเล็กจำเลยอ้างว่าเป็นภริยานายหรี่ แต่ความจริงจำเลยมิได้เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย นางเล็กจำเลยรับโอนมรดกที่ดินโฉนดที่ 703 ไปแล้ว ได้ขายแก่นางพันจำเลย โจทก์จึงขอให้เพิกถอนส่วนโฉนดที่ 732 อยู่ในระหว่างจำเลยประกาศขอรับมรดก จึงขอให้ถอนคำขอประกาศรับมรดก และให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินในโฉนดที่ 732
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องทั้งสองสำนวน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในคดีโฉนดที่ 703 ส่วนสำนวนโฉนดที่ 732 วินิจฉัยว่า นางเล็กจำเลยไม่มีสิทธิรับมรดก ให้ถอนคำขอประกาศรับมรดกของนางเล็กจำเลยเสีย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีเกี่ยวกับโฉนดที่ 703 นั้น ศาลล่าง 2 ศาลฟังข้อเท็จจริงต้องกันมาว่า นางพันจำเลยได้รับซื้อที่นี้ไว้โดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริต แม้นางเล็กจำเลยจะไม่ใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายก็ดี แต่นางเล็กได้อยู่กินกับผู้ตายมาตั้ง 10 ปีกว่า มีบุตรด้วยกันหลายคน นายหรี่ผู้ตายตายลง นางเล็กก็เชื่อโดยสุจริตว่าตนมีสิทธิรับมรดกของนายหรี่ จึงได้ขอรับมรดกเป็นการแย่งสิทธิรับมรดกจากทายาทเช่นโจทก์เป็นต้น เมื่อไม่มีทายาทคัดค้าน จนนางเล็กได้รับโฉนดมาและโอนขายให้แก่นางพันจำเลย ๆ ได้เสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว นางพันจำเลยย่อมได้กรรมสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299 วรรคท้าย ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ชอบแล้ว
สำหรับคดี โฉนดที่ 732 นั้น มูลกรณีเกิดขึ้นเพราะนางเล็กจำเลย ไปร้องขอรับมรดกนายหรี่ เป็นการโต้แย้งสิทธิที่โจทก์ผู้เป็นทายาทจะร้องขอรับมรดก เมื่อศาลได้ชี้ขาดว่า นางเล็กจำเลยไม่ใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้ถอนคำขอรับมรดกของนางเล็กจำเลยเสีย ก็เป็นอันว่าสิทธิโต้แย้งของโจทก์ได้หมดสิ้นไปโดยคำพิพากษาแล้ว เป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องไปยื่นคำขอรับมรดกนายหรี่ตามกฎหมาย ไม่ใช่ก้าวล่วงมาขอให้ศาลสั่งถอนชื่อนายหรี่และใส่ชื่อโจทก์แทน
จึงพิพากษายืน