คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1397/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างโรงงานและอาคารสำนักงาน เท่านั้น การที่โจทก์ให้ก่อสร้างถังเก็บน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก ด้วย ไม่ว่าโจทก์จะอาสาขอทดลองทำถังเก็บน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กให้แก่ จำเลยตามที่จำเลยอ้างโดยจำเลยมิได้ว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างถังเก็บน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยยอมให้โจทก์เข้าก่อสร้างทำงานนี้ ก็ต้องถือว่าจำเลยตกลงว่าจ้างโจทก์โดยปริยายแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับสินจ้างตามผล แห่งการงานที่ได้กระทำไปแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างโรงงานอาคารสำนักงาน และสิ่งปลูกสร้างอื่นอีกหลายรายการโจทก์ดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ แต่จำเลยทั้งสองค้างชำระค่าจ้างโจทก์อยู่หลายรายการเป็นเงิน 1,246,500 บาท นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังค้างชำระค่าไฟฟ้า และค่าน้ำเป็นเงิน 46,000 บาท รวมเป็นเงิน 3,418,775 บาท โจทก์ทวงถาม จำเลยทั้งสอง เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 3,418,775 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญากับโจทก์ในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นการส่วนตัว จำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้างรวมทั้งค่าไฟฟ้าและค่าน้ำให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว สำหรับงานตามรายการที่สอง ได้แก่ งานต่อเติมห้องรับแขก ห้องน้ำและก่อสร้างแท่นซิ้งค์เป็นงานก่อสร้างที่รวมอยู่ในงานของรายการแรกส่วนงานอื่น ๆ ในรายการนี้ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ว่าจ้างโจทก์ และงานดังกล่าวไม่ได้มีการก่อสร้างขึ้นแต่อย่างใด สำหรับงานตามรายการที่สี่ได้แก่ ถังเก็บน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก จำเลยที่ 1 ไม่ได้ตกลงว่าจ้างโจทก์แต่โจทก์ทดลองก่อสร้างให้ผลปรากฏว่าถังเก็บน้ำดังกล่าวพังทลายก่อนแล้วเสร็จ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 700,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 เมษายน 2537จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างโรงงานและอาคารสำนักงานตามสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.2 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างถังเก็บน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กด้วยหรือไม่ และความชำรุดบกพร่องมีเพียงใด ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ไม่เคยว่าจ้าง แต่โจทก์เป็นฝ่ายอาสาขอทดลองทำเอง โจทก์ก่อสร้างทิ้งไว้โดยที่มิได้ถอดไม้แบบออกทิ้งงานไปก่อน เมื่อนายสุรพลและนายสายพยานจำเลยที่ 1ถอดไม้แบบออกจึงพบว่าถังเก็บน้ำมีรอยแตกร้าวทั่วไปหมดมิใช่เพียงแต่ใช้ไม่ได้บางส่วนดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนั้น เห็นว่าโจทก์จะอาสาขอทดลองทำถังเก็บน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กตามที่จำเลยที่ 1 อ้างหรือไม่ก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์เข้าก่อสร้างทำงานนี้ ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ตกลงว่าจ้างโจทก์โดยปริยายแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับสินจ้างตามผลแห่งการงานที่ได้กระทำไปแล้ว ส่วนในเรื่องความชำรุดบกพร่องที่จำเลยที่ 1 อ้างว่านายสุรพลและนายสายพยานจำเลยเป็นผู้ถอดไม้แบบหลังจากโจทก์ทิ้งงานไปแล้วและพบว่าเสียหายแตกร้าวทั่วไปใช้การไม่ได้ต้องรื้อทิ้งทั้งหมด ปรากฏว่านายสุรพล เบิกความว่า เมื่อทำเสร็จแล้วโจทก์ก็ย้ายคนงานทั้งหมดออกไปตอนที่ย้ายคนงานออกไปนั้นยังไม่ได้ถอดไม้แบบออก หลังจากนั้นโจทก์ได้จ้างคนงานในพื้นที่ไปแกะไม้แบบ ตามคำนายสุรพลแสดงว่า โจทก์เป็นผู้รับผิดชอบทำงานนี้ตลอดไปจนกระทั่งแกะไม้แบบออกแล้ว นายสุรพลเบิกความมาตอนหนึ่งว่า ระหว่างก่อสร้างถังเก็บน้ำโจทก์ต้องการเร่ง งานแต่คนงานไม่พอ พยานให้นายสายกับคนงานส่วนหนึ่งไปช่วยทำ และนายสายพยานจำเลยเบิกความว่าได้เข้าไปร่วมก่อสร้างกับโจทก์ เคยทักท้วงผู้ควบคุมงานของโจทก์ว่าไม่มีเสากลางและไม่เทคาน ต่อไปจะทรุดนอกจากนี้การเทปูนไม่ดี เมื่อถอดแบบออกมาแนวปูนบวมพอง และมีรอยรั่ว ตามคำนายสายแสดงว่าเข้ามาทำงานอยู่กับโจทก์ จนกระทั่งโจทก์ถอดไม้แบบแล้วที่จำเลยที่ 1 อ้างในฎีกาว่า โจทก์ทิ้งงานไปโดยมิได้ถอดไม้แบบจำเลยที่ 1 พบเห็นความชำรุดบกพร่องมากมายเมื่อถอดแบบในภายหลังไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นความจริง นอกจากนี้ที่จำเลยที่ 2 เบิกความในชั้นพิจารณาว่า ได้ว่าจ้างร้านสุทัศน์การก่อสร้างมารื้อส่วนที่โจทก์ก่อสร้างไว้ออกและสร้างใหม่ ก็ไม่ปรากฏว่าได้นำสืบผู้รับจ้างรายใหม่เป็นพยานสนับสนุนให้เห็นจริงแต่อย่างใด ศาลฎีกาเชื่อว่าความชำรุดบกพร่องของถังเก็บน้ำที่โจทก์ก่อสร้างไว้ มิได้มากมายจนถึงกับต้องรื้อทิ้งแล้วสร้างใหม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าจ้างในส่วนนี้ 400,000 บาท ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share