คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1395/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกจ้างจะได้รับค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหารและค่าซักรีดจากนายจ้างก็ต่อเมื่อนายจ้างได้อนุมัติให้ลูกจ้างไปปฏิบัติงานในต่างจังหวัดและลูกจ้างมิได้ไปปฏิบัติงานในต่างจังหวัดเป็นประจำหรือแน่นอนทุกเดือน ดังนี้เงินทั้ง 4 ประเภทดังกล่าวมิใช่ค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2ลูกจ้างจึงไม่มีสิทธินำเงินจำนวนดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นค่าชดเชยได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด แต่จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์โดยมิได้นำค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหารและค่าซักรีด ซึ่งจำเลยจ่ายให้โจทก์เมื่อโจทก์เดินทางไปทำหน้าที่ในต่างจังหวัดประมาณเดือนละ ๒๐ วัน อันถือว่าเป็นค่าจ้างมารวมคำนวณด้วย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยส่วนที่ยังขาดอีก ๔๘,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เงินที่โจทก์อ้างว่าเป็นค่าจ้างนั้นจำเลยจ่ายให้โจทก์เมื่อโจทก์เดินทางไปต่างจังหวัดและมิใช่ส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่จะนำมารวมคำนวณเป็นค่าชดเชยเพราะเป็นเงินที่โจทก์ต้องใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานต่างจังหวัดแล้วจำเลยจ่ายคืนให้แก่โจทก์ ทั้งมิได้มีการกำหนดในการทำงานในต่างจังหวัดเดือนละ ๒๐ วันตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง
วันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์จำเลยยอมรับข้อเท็จจริงกันบางประการแล้ว ขอให้ศาลวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่ได้รับกันโดยไม่ขอสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหารและค่าซักรีดตามฟ้องมิใช่เป็นเงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานอันเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ฯ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าข้อเท็จจริงได้ความตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่าการที่โจทก์จะต้องเดินทางไปปฏิบัติงานในต่างจังหวัดนั้น โจทก์จะต้องทำประมาณการรายละเอียดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อขออนุมัติต่อจำเลยก่อน เมื่อได้รับอนุมัติแล้วโจทก์จึงจะเดินทางไปได้ ลักษณะการทำงานของโจทก์ในต่างจังหวัดจึงมิได้มีการกำหนดให้โจทก์ต้องปฏิบัติไว้แน่นอน ศาลฎีกาเห็นว่า ค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหารและค่าซักรีดเหล่านี้โจทก์มิได้รับจากจำเลยเป็นประจำ โจทก์จะได้รับก็ต่อเมื่อจำเลยได้อนุมัติให้โจทก์ไปปฏิบัติงานในต่างจังหวัด และโจทก์มิได้ไปปฏิบัติงานในต่างจังหวัดเป็นประจำหรือแน่นอนตายตัวทุกเดือนแต่อย่างใด ดังนั้นเงินทั้ง ๔ ประเภทนี้จึงมิใช่เป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติตามความหมายของคำว่าค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ ๒ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำเงินจำนวนดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นค่าชดเชยได้
พิพากษายืน.

Share